ทำอย่างไร อาการไอจะทุเลา อาการไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ รักษายังไง

          อาการไอ (Cough) เป็นหนึ่งในปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมในบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน และเป็นกลไกการป้องกันของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรคหรือกำจัดสารคัดหลั่ง สิ่งระคายเคืองออกจากทางเดินหายใจ โดยเมื่อร่างกายพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่สร้างความระคายเคืองในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง จะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมการไอ ในสมองส่วนเมดุลลา (Medulla) และกระตุ้นมายังกล้ามเนื้อหน้าท้อง และอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น กล้ามเนี้อกะบังลมและกล้ามเนื้อท้อง ทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดลม ส่งผลให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ทำให้เกิดการหายใจออกอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเปิดกล่องเสียง จึงเกิดเสียงและอาการไอ พร้อมที่จะขับสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจนั้นออกมา

ชนิดของอาการไอ

  1. ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์
  2. ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 – 8 สัปดาห์

สาเหตุของการเกิดอาการไอ

อาการไอมีอยู่หลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยได้แก่

  • การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในระบบทางเดินหายใจ
  • การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
    • ระบบทางเดินหายใจส่วนบน : ไข้, กล่องเสียงอักเสบ, โพรงจมูกอักเสบ, ไซนัสอักเสบ
    • ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง: หลอดลมอักเสบ, ปอดบวม
  • ภูมิแพ้
    • สูดหรือสัมผัสสารที่ก่อการระคายเคือง เช่น ฝุ่น, ไรฝุ่น, ควัน, บุหรี่, มลพิษทางอากาศ
    • แพ้อาหาร หรือแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน
    • การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
  • กำเริบจากโรคทางเดินหายใจเรื้อรังบางโรค เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบ, วัณโรค, มะเร็งปอด เป็นต้น

ผลเสียของอาการไอ

  • อาจทำให้เสียบุคลิกภาพในการอยู่ร่วมในสังคมต่าง ๆ ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น
  • อาจแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้
  • รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารหรือการนอนหลับ
  • ในกรณีผู้ป่วยสูงอายุ หากมีอาการไอมาก ๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ หรือทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก เกิดอาการหอบเหนื่อยและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • การแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะราด, เสียงแหบ, ไส้เลื่อน, ปวดหลัง, เจ็บกล้ามเนื้อ

การรักษาและบรรเทาอาการไอ

การบรรเทาอาการ

  • หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น, ควัน, ควันบุหรี่ ที่ส่งผลทำให้เกิดการระคายเคืองทางจมูกและลำคอ ควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ
  • จิบน้ำอุ่น จะช่วยละลายเสมหะให้น้อยลง ทำให้ชุ่มคอ
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หนุนหมอนสูงขณะหลับ จะสามารถบรรเทาอาการไอแห้งได้
  • งดอาหารรสจัด ของทอด น้ำเย็นจัด น้ำแข็ง
  • การใช้เครื่องพ่นไอน้ำ ช่วยรักษาความชื้นในห้อง
  • การทำความสะอาดช่องปากด้วยแปรงสีฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก/น้ำเกลือ ทำให้ชุ่มคอ และลดการระคายเคืองได้

การใช้ยารักษา

  • กรณีที่ไอมีเสมหะ เสมหะเหนียวข้นมาก จะถูกขับออกจากหลอดสมได้ยาก การให้ยาละลายเสมหะจะช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้น
  • หากมีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว แพทย์อาจจะให้ยาจุลชีพ
  • การใช้ยาอม ที่มีส่วนผสมของมะขามป้อม, ชะเอมเทศ, ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น จะช่วยลดการระคายเคืองในคอ
  • กินยาแก้ไอทั้งชนิดเม็ดและน้ำ ร่วมถึงยาพ่นลดอาการบรรเทาอาการไอ
  • กรณีมีอาการแพ้ยาลดความดัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่องดยาหรือเปลี่ยนยา

 

          เนื่องจากอาการไอเกิดจากหลายสาเหตุ หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีและรักษาอย่างถูกต้อง อาการไอก็จะทุเลาลงได้ แต่หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ หรือหรือมีอาการไอเป็นเลือด ร่วมกับอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจมีเสียง, มีไข้สูง, หายใจติดขัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม


Reference:

  • ชีวิตดีดี GED Goodlife.  (2563).  12 วิธีแก้ไอให้หายไวไว ลองทำดู ได้ผลแน่นอน!.  สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3xip5fb
  • รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.  (2553).  อาการไอ (Cough) ตอนที่ 1.  สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3Qds0ym
  • พบแพทย์.  (2565).  อาการไอและวิธีแก้ไอที่ได้ผล.  สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/38PNGju

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general