ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) หนึ่งในสมุนไพรติดครัวของคนไทย เราจะรู้จักสรรพคุณของเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาผิวพรรณ หลายประเทศเองก็ใช้ประโยชน์จากว่านหางจระเข้ในการรักษาโรคและดูแลผิวด้วยเช่นกัน ว่านหางจระเข้เป็นไม้ล้มลุก, ใบเป็นใบเดี่ยว, ริมใบหยัก, มีหนาม ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญก็คือวุ้นและเมือกใสที่อยู่ในใบ
ประโยชน์ของว่านหางจระเข้
โพลียูโรไนด์และโพลีแซคคาไรด์ เป็นสารสำคัญที่ช่วยรักษาบาดแผลและป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย สามารถนำวุ้นจากใบมาทาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดการเกิดฝ้า ฯลฯ อีกทั้งนังสามารถนำมารับประทานแก้โรคกระเพาะ นอกจากนี้ยังมีสาร Aloctin A ที่มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ส่วนอื่น ๆ ของต้น เช่น ยางสามารถนำมาทานเป็นยาระบาย รากก็นำมาทานแก้โรคหนองในได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากว่านหางจระเข้ได้ทุกส่วน
แต่หากเน้นเฉพาะสรรพคุณในเรื่องผิวพรรณ ความสวยงามนั้น มีสูตรบำรุงผิวมากมายหลายสูตรให้เราเลือกใช้ ในที่นี้เราขอนำเสนอสูตรบำรุงผิวพรรณ ตั้งแต่หัวจรดเท้าให้คุณ ๆ ลองนำไปใช้กัน ไปดูกันเลย
ผม
- นำวุ้นผสมกับน้ำเปล่าในอัตรา 1:1 นำไปกรอง และนำน้ำที่ได้ไปหมักผม ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างให้สะอาด ทำให้ผมเงางาม ช่วยขจัดรังแค
- นวดที่หนังศีรษะ เพื่อรักษาแผลบนศีรษะได้
ผิวหน้า
- นำวุ้น ฝานบาง ๆ แล้วนำมาทาหน้า วันละ 2 ครั้ง จะทำให้รอยด่างดำแผลเป็นบนใบหน้าลดลง, ผิวหน้าเนียน, ลดการเกิดริ้วรอย, ลดความมัน, ลดการเกิดสิว
- นำวุ้นไปปั่นจนละเอียด แล้วมาแต้มหัวสิวก่อนนอน เพื่อลดอาการอักเสบ
- นำวุ้นมาทาใต้ตาเพื่อลดอาการบวม ลดขอบตาคล้ำ
ผิวตัว
- นำวุ้นมาใช้ในการรักษาแผลไฟไหม้, น้ำร้อนลวก, แผลถลอกจากการถูกครูด โดยนำมาบดหรือฝานบาง ๆ แล้ววางไว้ที่บริเวณแผล
- นำวุ้นมาทาบริเวณรอยผิวไหม้จากแดด จะสามารถลดอาการแสบจากผิวไหม้แดดได้
- นำวุ้นมาทาตัว, มือ, เท้า ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที และล้างออก หากทำเป็นประจำจะทำให้ผิวนิ่ม ชุ่มชื้น
- นำวุ้นมาหั่นเป็นชิ้น นำไปใส่ไว้ในถุงผ้าขนาดเล็ก แล้วนำไปหย่อนไว้ในอ่างอาบน้ำ ระหว่างอาบน้ำนำวุ้นมาทาวน ๆ ตรงส่วนที่หยาบกร้าน, ข้อศอก, หัวเข่า, ส้นเท้า จะช่วยให้ผิวบริเวรนั้นเนียนนุ่ม ไม่หยาบกร้าน
สวยจากภายในด้วยการรับประทาน
น้ำที่ทำจากวุ้นอุดมไปด้วยวิตามิน ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ, ซี, บี รวมถึง แร่ธาตุ เช่น แคลเซียม, แมกนีเซียม, สังกะสี, โพแทสเซียม สามารถนำมารับประทานได้
- สามารถล้างพิษ ช่วยในการย่อยอาหาร สามารถบรรเทาอาการอักเสบและลดความร้อนในร่างกาย
- ลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดได้ รับประทานเพื่อป้องกันโรคเบาหวานได้
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากมีสารโพลีแซคคาไรด์ ช่วยลดการอักเสบและช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ช่วยในการขับถ่าย ลดอาการท้องผูก เนื่องจากมีสาร Anthraquinone ซึ่งมีฤทธิ์ในการระบาย ช่วยลดน้ำหนักได้
- ปรับสมดุลในร่างกาย ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย
- บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมความดันเลือด
ข้อควรระวัง
- ในกรณีใช้ว่านหางจระเข้สด วุ้นที่นำมาใช้ ควรจะต้องล้างทำความสะอาดให้ดี ป้องกันน้ำยางจากเปลือกที่จะทำให้เกิดการแพ้ได้
- ควรทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้เสมอ โดยนำวุ้นมาทาบริเวณโคนหูหรือท้องแขน ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาที หากรู้สึกมีอาการระคายเคืองหรือผื่นแดง แสดงว่ามีอาการแพ้
- การดื่มน้ำว่านหางจระเข้มากเกินไปอาจส่งผลเสียได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยในการขับถ่าย อาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุบางชนิด โดยเฉพาะโพแทสเซียม
แม้ว่าว่านหางจระเข้จะเป็นสมุนไพรไทย แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือใช้ผิดวิธีก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียได้ ดังนั้นควรใช้ในปริมาณพอดีและศึกษาวิธีการนำไปใช้ให้ถูก พร้อมทดสอบการแพ้ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยของเราเอง จะได้สวยอย่างปลอดภัยและไร้กังวล
Reference
- ศาสตราจารย์นายแพทย์วิวัฒน์ วิสุทธิโกศล. (2561). ประโยชน์ของว่านหางจระเข้. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3zyn80Z
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2558). ว่านหางจระเข้. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/39hNU2V
- MedThai. (2560). ว่านหางจระเข้ สรรพคุณและประโยชน์ของว่านหางจระเข้ 40 ข้อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3mEK7zZ