ควรดื่มชาร้อนแบบไหน? ที่จะช่วยให้ผ่อนคลาย ได้ทั้งงานได้ทั้งสุขภาพ

       

          ความนิยมของการดื่มชาในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นการพัฒนาของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับชาหลากหลายรูปแบบ ข้อสำคัญแบรนด์ต่าง ๆ มักจะดึงประโยชน์ของชามานำเสนอกับเราอยู่เสมอ เนื่องจากในใบชามีสารอาหารสำคัญอย่าง คาเทชิน (Catechin) มีประโยชน์ในการดักจับอนุมูลอิสระ รวมไปถึง ธีอะนิน (Theanine) ที่เป็นสารที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ทำให้ผู้ดื่มชารู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย โดยเฉพาะ คนทำงานผู้ที่หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชาก็ถือเป็นเครื่องดื่มตัวเลือกอีกชนิดที่ทำให้คนทำงานอย่างเราผ่อนคลายจากความตึงเครียดและความง่วงเพลียจากการทำงานระหว่างวัน ทำให้การทำงานของเราเป็นไปอย่างลื่นไหล เราสามารถดื่มชาได้ทั้งรูปแบบร้อนและเย็น สามารถดื่มได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าก่อนทำงาน ช่วงบ่าย หรือช่วงก่อนนอน แต่ต้องย้ำว่าต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม วันนี้ วิชาการ ขอแนะนำ 5 วิธีการเลือกชาที่เหมาะสมกับเรากัน แต่ก่อนอื่นมารู้จักชากันแบบเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า


ชา


คือ ผลผลิตของต้นชา Camellia sinensis ซึ่งได้แก่ ใบ ยอดอ่อนก้าน ที่ผ่านการแปรรูปซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาจากการตากแห้ง และอาจรวมไปถึงชา ที่หมายถึงชาสมุนไพร ซึ่งเกิดจากการนำส่วนใบ ดอก หรือผลไม้ของพืช ที่ไม่มีส่วนผสมของต้นชา เพื่อใช้ในการชง หรือต้มกับน้ำร้อนเพื่อดื่ม เช่นกัน


ประเภทของชา แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

  • ชาขาว ทำจากยอดอ่อนใบชาที่ถูกทิ้งให้สลด และไม่ได้ผ่านการบ่ม ทำให้เมื่อนำมาชง สีชาขาวที่ได้จากการชงจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และเนื่องจากการขั้นตอนการทำชาน้อยกว่าชาชนิดอื่น ทำให้มีสารคาเฟอีน (Caffeine) น้อย และมีสารโพลิฟีนอล (Polyphenols) มากกว่าชาชนิดอื่นด้วยเช่นกัน จึงสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
  • ชาเขียว คือใบชาที่ผ่านการทำให้สลด และนำไปอบด้วยไอน้ำโดยไม่ได้หมัก เพื่อความสดของใหม่ของใบชาเอาไว้ ทำให้สีของน้ำชาเขียวยังความเขียวอยู่ เป็นนิยมมากในชาวญี่ปุ่น ชาเขียวนั้นมีสาร คาเทซิน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดภาวะการเกิดโรคหัวใจได้
  • ชาอู่หลง คือใบชาที่หลังทิ้งให้สลด จะนวดใบชา และหมัก แบบ “กึ่งหมัก” โดยการผ่านความร้อนจากการคั่วหรืออบควัน ทำให้ชาอู่หลงกลิ่นจะแรงกว่าชาเขียว มีรสฝาดและขมเล็กน้อย ได้รับความนิยมในชาวจีน ช่วยบำรุงผิวให้ดูสุขภาพดี ช่วยในการไหลเวียนของเลือด และยังช่วยล้างสารพิษตกค้างในตับได้ด้วย
  • ชาดำ คือใบชาที่ทิ้งให้สลดและผ่านการม้วนและบ่มครบกระบวนการ ลักษณะของชาดำมักจะมีสีแดงหรือน้ำตาลเข้ม รสชาติของชาดำจะออกขมเล็กน้อย และชุ่มคอ สามารถช่วยในระบบย่อยอาหาร ยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก แต่ไม่แนะนำให้ดื่มชาดำก่อนนอน เนื่องจากมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าชนิดอื่น
  • ชาสมุนไพร ได้จากการตากแห้งของใบ ดอก ของพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ต้นชา เช่น ชากุกลาบ ชาตะไคร้ ชามะตูม เป็นต้น

วิธีการดื่มชาที่ถูกต้อง

          ชาร้อน ถือว่าเป็นการชงชาที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า เราควรดื่มชาขณะร้อน ๆ ถึงจะดีที่สุด และควรดื่มให้หมด ไม่ควรปล่อยชาเอาไว้เกินกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากจะทำให้สารคาเทซินที่อยู่ในชาเกิดการจับตัว ส่งผลเสียต่อระบบการย่อยอาหารได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีการชงชาด้วยการสกัดเย็น (cold brew) ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการ แช่ใบชาไว้ในน้ำดื่มอุณหภูมิปกติหรือน้ำเย็น ก่อนนำไปเข้าตู้เย็นอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนนำมาดื่ม ชาสกัดเย็นมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการชงร้อนถึง 2 เท่า รวมถึงมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่า และรสชาติที่กลมกล่อมกว่า เนื่องจากไม่มีรสชาติขม หรือฝาดแต่อย่างใด แต่ถ้าหากต้องการในเรื่องของความหอมของกลิ่นชาแล้วล่ะก็ การจิบชาอุ่น ๆ หอม ๆ ก็ช่วยคนทำงานในเรื่องความผ่อนคลายได้


5 ชา ที่เหมาะดื่มในเวลาทำงาน

  1. ชาเขียว
    • ช่วยคลายความเหนื่อยล้า สารโพลีพีนอลในชาเขียวมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยแก้อาการร้อนใน ดับกระหาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีสารธีอะนิน เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งมีผลทำให้สมองเราลดการปล่อยคลื่นสมอง มีส่วนช่วยในเรื่องสมาธิและความจำ และส่งผลให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย รู้สึกสงบ และลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ โดยเฉพาะสำหรับหนุ่มสาววัยทำงานสายสุขภาพ ผู้ที่ต้องเผชิญกับมลภาวะอย่างฝุ่นควันภายนอก ชาเขียวก็สามารถดีท๊อกซ์สารพิษออกจากร่างกายได้
  2. ชามะลิ
    • เป็นการนำใบชาเขียวพร้อมกับดอกมะลิอบแห้งมาชงเป็นน้ำชา ในชามะลิมีสารคลอโรฟิลล์และวิตามินอี ช่วยให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดี เหมาะอย่างยิ่งกับคนทำงานที่ต้องพบความเครียดตลอดเวลา รวมถึงนักศึกษาวัยเรียน สามารถดื่มชาชนิดนี้ได้ การดื่มชามะลิมีข้อควรระวังในเรื่องของปริมาณคาเฟอีน ทำให้ผู้ที่ดื่มมากเกินไป มีอาการกระสับกระส่าย กระวนวาย วิตกกังวล แต่หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม สารในชามะลิจะมีฤทธิ์ในการปล่อยสารกระตุ้นระบบประสาทอ่อน ๆ ออก เช่น โดพามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว บำรุงสมอง และช่วยในเรื่องความจำให้มีประสิทธิภาพได้ด้วย
  3. ชาคาโมมายล์
    • ชาคาโมมายล์ทำจากการนำดอกคาโมมายล์ ซึ่งเป็นดอกไม้สมุนไพรที่อยู่ในตระกูลเดียวกับดอกเดซี่ มีลักษณะเป็นดอกสีขาวและมีเกสรตรงกลางเป็นสีเหลือง ตากแห้งมาชงกับน้ำร้อน ความพิเศษจะอยู่ที่กลิ่นหอมของชา และมีรสชาติหวานอ่อน ๆ เป็นชาที่ปราศจากคาเฟอีน มีสารที่ทำให้ลดความวิตกกังวล คลายเครียด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น รวมถึงมีสารต้านอนุมูลต้านอิสระที่สามารถลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจได้ แม้ว่าชาคาโมมายด์สามารถดื่มได้ทุกเพศทุกวัยก็จริง แต่ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดรู้สึกง่วงซึม จนไปถึงขั้นอาเจียน รวมถึงผู้ที่แพ้คาโมมายด์หรือพืชในตระกูลเดซี่ ควรระมัดระวัง
  4. ชาดำ
    • สร้างความตื่นตัว ชาดำมีจุดเด่นตรงที่ปริมาณคาเฟอีนมากกว่าชาชนิดอื่น จึงเหมาะคนทำงานที่ต้องการความตื่นตัว สามารถดื่มชาดำแทนการดื่มกาแฟได้ อีกทั้งเราจะได้ประโยชน์ที่ได้จากสารแทนนิน (Tannins) ที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยระบบย่อยอาหาร และช่วยยับยั้งแบคทีเรียในช่องปากเพิ่มมาด้วย ชาชนิดนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับท่านที่ต้องการใช้สมาธิกับการทำงานหรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการง่วงระหว่างทำงาน เนื่องจากมีคาเฟอีน แต่ไม่ได้ทำลายสุขภาพเมื่อเทียบกับกาแฟ
  5. ชาเปเปอร์มินต์
    • เป็นชาที่เด่นในเรื่องของกลิ่นของชาที่เสริมสร้างสุขภาพทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในชาเปเปอร์มินต์หลายชนิด เช่น เมนทอล เมนโทน และลิโมนิน ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า กระตุ้นการทำงานของสมองและความจำ เหมาะกับคนที่ต้องการบรรเทาอาการปวดหัว ไมเกรน ทำให้จิตใจ และร่างกายสงบ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย รวมไปถึงมีสรรพคุณทายาอื่น ๆ ได้แก่ อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร สามารถช่วยในระบบย่อยอาหาร ช่วยเรื่องล้างพิษในร่างกาย ดีต่อการทำงานของตับ ช่วยรักษาสุขภาพช่องปากทำให้ช่องปากมีสุขภาพดี ลมหายใจสดชื่น

          เป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับชา 5 ชนิดที่เหมาะกับการดื่มในวันทำงาน ประโยชน์ของชาที่นำมาเสนอส่วนใหญ่จะเน้นไปเรื่องของการทำให้ร่างกายผ่อนคลายจากความเครียดในการทำงาน ช่วยในเรื่องกระตุ้นสมอง ความจำและสมาธิ ช่วยทำให้วันทำงานของเราไปอย่างง่ายดายและลื่นไหล แล้วชาแบบไหนที่เหมาะกับตัวคุณกันนะ?

Reference:

  • Aromathailand.  (2565).  บอกให้รู้! วิธีเลือกชาที่ดื่มให้เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวัน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3hxDmAY
  • Nestle ประเทศไทย.  (2565).  ดื่มชาอย่างเข้าใจ ได้ประโยชน์เพื่อสุขภาพเต็มที่.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3Pw5twS
  • The Gen C Blog.  (2565).  Afternoon Tea ดื่มชา พักเบรกหลัง work from condo หนักหน่วง.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3hzEh3R
  • พร่างพิชญ์.  (2562).  ชาร้อน ผ่อนคลาย ได้สุขภาพดี.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3BDwetK



วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general