ทอนซิลอักเสบเกิดจากอะไร ทำอย่างไรถึงจะหายจากการอักเสบ?

          เคยเป็นไหมที่อยู่ดี ๆ ก็มีอาการเจ็บคอขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน ซึ่งอาการดังกล่าว หากไม่รุนแรงก็มักจะหายได้เองในช่วงสาย ๆ ของวัน แต่ถ้าอาการรุนแรงมาก ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถ กลืนน้ำลายได้ เมื่อส่องกระจกดูจะพบว่ามีรอยแดง ๆ รอบ ๆ บริเวณลำคอ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หรืออาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังมีการติดเชื้อ? แล้วเราติดเชื้อได้อย่างไร จะรักษาหายไหม? บทความนี้มีคำตอบให้คุณ

          ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรามีหลายรูปแบบและ “ต่อมทอนซิล” ก็เป็นอีกระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่ทำหน้าที่ในการดักจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินอาหาร ที่เห็นได้ชัดเจนจะอยู่ด้านข้างของช่องปาก มีชื่อเรียกว่า พาลาทีนทอนซิล (Palatine Tonsil), บริเวณโคนลิ้น (Lingual Tonsil) และช่องหลังโพรงจมูก (Adenoid Tonsil)

สาเหตุของทอนซิลอักเสบ

          การติดเชื้อที่ต่อมทอนซิล มีสาเหตุมาจากไวรัส หรือแบคทีเรียที่ผ่านเข้ามาทางช่องปาก โดยต่อมทอนซิลจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ด้วยการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค แต่เนื่องจากต่อมทอนซิลเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรก จึงทำให้ต่อมทอนซิลเสี่ยงต่อการอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย

อาการ “ทอนซิลอักเสบ”

          เป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานลดลง เมื่อทำงานลดลงก็จะทำให้เกิดการอักเสบ ทอลซิลก็เป็นระบบภูมิคุ้มกันอีกชนิดหนึ่งที่พบการอักเสบเมื่อมีการติดเชื้อ และจะส่งสัญญาณเตือนเราด้วย “อาการเจ็บคอ” นั้นเอง และอาการที่พบบ่อยคือ

  1. อาการบวมแดงที่ลำคอ
  2. กดเจ็บบริเวณลำคอด้านนอก
  3. อาการอาจรุนแรงและคงอยู่ยาวนานกว่า 48 ชั่วโมง 
    • กลืนลำบาก
    • เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน
    • มีกลิ่นปาก
    • มีไข้
    • หนาวสั่น
    • ปวดศีรษะ และปวดที่บริเวณหู

          แน่นอนว่าอาการทอนซิลอักเสบเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ในเด็ก และยังพบอาการดังกล่าวในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และผู้สูงอายุอีกด้วย ในทางการแพทย์จัดให้โรคต่อมทอนซิลอักเสบอยู่รวมกับโรคคออักเสบ เนื่องจากมีการอักเสบจากการติดเชื้อที่ลำคอคล้ายกัน

การดูแลตนเองเมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้คอชุ่มชื้น
  3. รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก, ข้าวต้ม
  4. ดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้สบายคอ เช่น น้ำอุ่น, ชาที่ปราศจากคาเฟอีน, น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง หรือไอศกรีมแท่ง
  5. กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ สามารถทำได้เองที่บ้าน ใช้เกลือ 1 ช้อนชา ผสมน้ำเปล่าประมาณ 250 มิลลิลิตร กลั้วลำคอแล้วบ้วนทิ้ง จะช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บคอลงได้
  6. รักษาความชุ่มชื้นของบ้าน หลีกเลี่ยงอากาศแห้ง เนื่องจากจะส่งผลให้ระคายเคืองที่คอและเจ็บคอมากขึ้น
  7. เด็กที่อายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป ให้อมยาอมเพื่อบรรเทาอาการระคายคอ
  8. หลีกเลี่ยงสารที่ก่อความระคายเคืองที่คอ เช่น ควันบุหรี่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้งหลาย

          สิ่งหนึ่งที่เราควรทราบ คือ อาการอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ไม่รุนแรง สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าเกิดจากแบคทีเรียที่รุนแรง มีอาการไข้หนาวสั่นร่วมด้วย แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป

 


References:

  • โรงพยาบาลรามคำแหง.  (2564).  โรคทอนซิลอักเสบ โรคของคอที่ต้องใส่ใจ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3s07gQt
  • World Medical Hospital.  (2565).  ทอนซิลอักเสบ ( Tonsillitis ).  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3LBastC
  • รุตติ ชุมทอง.  (2565).  ทอนซิลอักเสบ อย่าปล่อยไว้ให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3MAPKKg


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general