อาการแพ้ยา น่ากลัวแค่ไหน ผื่นขึ้น เวียนหัว ตาบวม แก้ยังไง

          ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยจึงอาจทำให้หลายคนไม่สบายจนต้องไปพบแพทย์ หลังจากพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัย สิ่งที่จะได้ต่อมานั่นคือยา ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด, ยาแก้อักเสบ, ยาฆ่าเชื้อ, ยาแก้แพ้ หรือยาอื่นที่แพทย์จ่ายตามอาการ หลังรับประทานยาไปแล้วบางคนอาจมีอาการผื่นขึ้น, ปวดศีรษะ, ตาบวม หรือบางคนอาจมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก, หายใจไม่ออก, มีการเกร็งกล้ามเนื้อ หรือมีความดันตกอย่างรวดเร็ว ถ้าเรามีอาการแบบนี้คงน่ากลัวไม่น้อย แต่ใครจะรู้ว่าอาการดังกล่าว มันเป็นผลข้างเคียงของยาที่รับประทานหรือการแพ้ยากันแน่

การแพ้ยาคืออะไร

          การแพ้ยา (Drug Allergy) หรือทางการแพทย์เรียกว่า Hypersensitivity เป็นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมภายนอกอีกรูปแบบหนึ่ง คนทั่วไปที่ไม่แพ้ยา เมื่อร่างกายได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย จะตอบสนองตามฤทธิ์ของยา ซึ่งก่อให้เกิดผลทางการรักษา แต่สำหรับผู้ป่วยบางคนที่แพ้ยาเมื่อได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย จะตอบสนองอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายนั่นเอง

อาการและความรุนแรงของการแพ้ยา

          สำหรับบางคนที่มีอาการแพ้ยา อาจมีอาการตั้งแต่การระคายเคืองผิว, เกิดผื่นที่ผิวหนัง, ผิวหนังบวมแดง, หายใจติดขัด หากผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปฏิกิริยาการแพ้ยาแต่ละชนิดหลังรับประทานยาจะแสดงอาการแตกต่างกัน เช่น อาจเกิดอาการแพ้ยาทันที แต่สำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลานาน คือต้องกินยาผ่านไปหลายวัน หรือนานเป็นสัปดาห์ถึงจะแสดงอาการ ในรายที่มีอาการแพ้ที่รุนแรงจะเรียกว่า Anaphylaxis ซึ่งมีอาการแน่นหน้าอก, หายใจลำบาก, คลื่นไส้, อาเจียน, กล้ามเนื้อเกร็ง, ความดันโลหิตต่ำอย่างรวดเร็ว หรือเสียความรู้สึก และอาจเสียชีวิตได้ในภายหลัง

อาการแบบไหนที่เรียกว่าแพ้ยา

          อาการแพ้ยาสามารถเกิดได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลอ าการที่เป็นก็อาจมีความรุนแรงต่างกัน บางคนมีอาการไม่รุนแรง อาจมีแค่ผื่นขึ้นทั่วไป แต่บางรายอาจมีอาการหายใจลำบาก, ตัวบวม, ความดันตกทันที

          ส่วนอาการข้างเคียงของยาสามารถเกิดได้กับทุกคนไม่เฉพาะเจาะจง และขึ้นอยู่กับยาบางชนิดที่อาจจะมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่ย้ำว่ายาทุกตัวมีผลข้างเคียงที่ไม่ใช่จากการรักษาโดยตรง เนื่องจากยาบางชนิดออกฤทธิ์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ จะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารเมื่อรับประทานเข้าไป มีอาการแสบท้อง หรือยาแก้หวัด หากรับประทานเข้าไปแล้วอาจมีอาการง่วงซึม แน่นอนว่าเมื่อได้รับยาจากหมอหรือเภสัช ควรตั้งใจฟังให้ดีก่อน ว่ายาตัวไหนมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง อย่ารีบตกใจว่าตัวเองอาจมีอาการแพ้ยา

เมื่อมีอาการแพ้ยาต้องทำอย่างไร

          เมื่อรู้ว่ารับประทานยาเข้าไปแล้ว มีอาการผิดปกติไม่ว่าจะเป็น ผื่นขึ้น, เวียนหัว, ตาบวม หรือสงสัยผลข้างเคียงจากยา หรือสงสัยการแพ้ยาใด ๆ ก็ตาม ให้หยุดรับประทานยาทันที และพบแพทย์หรือเภสัชเพื่อประเมินอาการแพ้ยา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยทราบได้ทันทีว่าเกิดจากการแพ้ยาจริงหรือไม่ และการทำเช่นนี้จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยอย่างมากในการรักษาครั้งต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาซ้ำอีก และที่สำคัญให้นำยาที่สงสัยว่ามีผลข้างเคียงหรือแพ้นำติดตัวมาด้วย เพื่อที่จะให้การประเมินการแพ้ยาเป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำนั่นเอง

 

          แม้เราไม่อยากเกิดอาการแพ้ยาใด ๆ ก็ตาม แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้มีอาการแพ้ยา ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินการแพ้ยาอย่างถูกต้องจากเภสัชกร เพื่อที่จะให้เภสัชกรออกใบรับรองการแพ้ยาให้ และเมื่อจำเป็นต้องรับการรักษาที่ไหนก็ตาม ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการทางการแพทย์ จะต้องนำใบรับรองการแพ้ยานี้แสดงต่อแพทย์และเภสัชเพื่อให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้นั่นเอง

 


References:

  • จตุพร กิ่งโพธิ์ (2549).  คู่มือชื้อยาให้เป็น.  กรุงเทพฯ: ใกล้หมอ.
  • โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม.  (2565).  จะรู้ได้อย่างไรว่า..แพ้ยา.  สืบค้นเมื่อวันที่ 04 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3xrHd7X 
  • pobpad.  (2565).  อาการแพ้ยา กับสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์.  สืบค้นเมื่อวันที่ 04 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3NVfa68


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general