ผู้หญิงมักได้ชื่อว่าเป็นเพศที่อ่อนโยน อ่อนน้อม อ่อนหวาน…แต่ไม่ อ่อนแอ แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้ความสวยงามอันอ่อนหวานนั้น ถูกซ่อนไว้ด้วยความเจ็บปวดที่ผู้หญิงเท่านั้นจะเข้าใจ และแน่นอนว่าสิ่งที่เราจะกล่าวถึงนั้น คือ อาการปวดประจำเดือนนั่นเอง การมีประจำเดือนบ่งบอกว่า เราเป็นสาวเต็มตัวแล้ว เมื่อเข้าสู่วัยสาวเต็มตัวแล้ว ผู้หญิงอย่างเราคงหนีไม่พ้น ปัญหาการปวดประจำเดือนที่ต้องเจอทุก ๆ เดือน จากการศึกษาทั่วไปพบว่า ผู้หญิง 3 ใน 4 ราย มักมีอาการปวดท้อง ขณะมีประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะปวดไม่มาก และสามารถทำงานได้ตามปกติ ขณะที่ส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาจปวดรุนแรงจนต้องพักงาน หรือต้องไปพบแพทย์ เพื่อขอยาแก้ปวด เรามาดูกันว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาอาการปวดนี้ เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง
อาการปวดประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือน มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และมีการหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ออกมามากผิดปกติ ซึ่งสารนี้ทำหน้าที่ช่วยปิดรูหลอดเลือดที่รั่ว จึงทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัว (มักพบในผู้หญิงที่อายุน้อย) และจะมีอาการปวดท้องน้อยแบบรุนแรง ในระยะแรกที่ประจำเดือนมา อาจมีอาการปวดศีรษะ, คลื่นไส้, ท้องเดิน, เหงื่อออก หรืออาจจะมีอาการมือเท้าเย็นร่วมด้วย บางรายอาจปวดมากจนไม่สบายหรือเป็นลม แต่อาการปวดนี้จะหายไปเองภายใน 1 – 2 วัน
ส่วนอาการปวดอย่างรุนแรง อาจเกิดจากโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ มีถุงน้ำที่รังไข่, มีอาการอักเสบในอุ้งเชิงกราน, มีเนื้องอก, ไฟบรอยด์ หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิด ซึ่งในกรณีหลังถ้าเคยตั้งครรภ์มาแล้ว ปากมดลูกจะหลวม อาการปวดมดลูกจะหายไป ถึงแม้หลายคนจะไม่หวั่นแม้วันมามาก เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของลูกผู้หญิง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย อาจทำให้เราหมดสนุกจนต้องหยุดพักกิจกรรมระหว่างวัน
วิธีกำจัดอาการปวดประจำเดือนให้หายขาด
- ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
แม้ว่าอาการปวดประจำเดือนจะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่ง มาจากการใช้ชีวิต และการทานอาหารของเรานั่นเอง วิธีแรกคือ เลือกทานอาหารธรรมชาติที่มีกากใยสูง เช่น ผัก, ผลไม้สด เพื่อป้องกันอาการท้องผูกระหว่างมีประจำเดือน นอกจากนี้อาการปวดประจำเดือน อาจมีสาเหตุมาจากความเครียด ซึ่งสามารถดูแลตัวเองด้วยการฝึก สมาธิ, เล่นโยคะ และฝึกเทคนิคในการผ่อนคลายอื่น ๆ - ปรับสมดุลด้วยวิตามิน
การทานวิตามินเสริมเป็นประจำ ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายเตรียมพร้อมรับมือกับอาการปวดประจำเดือนได้อย่างดี โดยทานวิตามินกลุ่มแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ได้แก่ วิตามินเอ, ซี, อี ร่วมกับวิตามินบี 2 ปริมาณ 200 มิลลิกรัม, วิตามินบี 6 ปริมาณ 100 มิลลิกรัม, กรดโฟลิกปริมาณ 0.4 มิลลิกรัม และธาตุเหล็กปริมาณ 30 มิลลิกรัม - สมุนไพรไทยแก้อาการปวด
หากอาการปวดยังไม่ทุเลา ก็ลองหันมาใช้สมุนไพรไทยใกล้ตัวของเราได้นะ เช่น
- แก่นขี้เหล็กและแก่นฝางเสน นำแก่นขี้เหล็กและแก่นฝางเสน อย่างละ 75 กรัม ใส่หม้อ เติมน้ำให้พอท่วม น้ำ 3 ส่วน ต้มเหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหารเช้าและเย็น
- หัวหอม ใช้หัวหอมสด 15 ถึง 30 กรัม ต้มกับน้ำตาลพอประมาณ รอให้หายร้อน แล้วดื่มเป็นยา
- ลูกยอบ้าน เช่น การนำลูกยอบ้านอายุแก่พอดีมาใส่ในส้มตำ โดยรับประทานสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้
อาการปวดประจำเดือนที่ควรรีบไปพบแพทย์
- หากเรายังคงมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง, ผิดปกติ หรือมีเลือดออกมาก จนต้องหยุดทำกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ
- ตรวจบริเวณท้องน้อยข้างขวาร่วมด้วย เพราะอาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ ได้
References:
- โกมุท ภัทรเมธี. (2537). คู่มือตรวจโรคด้วยตนเองเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: อินทรีย์
- ศรีสุภา ส่งแสงขจร. (2552). รักษาก่อนหาหมอ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์สุขภาพ
- กัญศจี วงศาวัฒนากุล. (2553). รู้ไว้…ไกลโรค. ปทุมธานี: เวิร์คพอยท์