จากกระแสข่าวที่เป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันในสังคมช่วงนี้เกี่ยวกับพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำงานจนเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน ทำให้สังคมไทยเราโดยเฉพาะสังคมวัยทำงานหันมาตื่นตัวในเรื่องของชั่วโมงการทำงาน และการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจากความวิตกกังวลดังกล่าวหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าการทำงานหนักจนตายอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “คาโรชิ ซินโดรม” ซึ่งโรคนี้คืออะไร เกิดจากสาเหตุไหน ในวันนี้ วิชาการ จะพาไปรู้จักกัน
“คาโรชิ ซินโดรม” โรคร้ายภัยเงียบของคนทำงาน
“คาโรชิ ซินโดรม” คือโรคอะไร ?
โรคคาโรชิ ซินโดรมหรือ Karoshi Syndrome คือ ชื่อเรียกภาวะอาการเหนื่อยหรืออ่อนเพลียตลอดจนความเครียดของร่างกายที่มีสาเหตุมาจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยเริ่มแรกโรคนี้มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นสังคมที่ค่อนข้างบ้างาน ทำให้คนญี่ปุ่นเองก็เป็น โรคคาโรชิ ซินโดรมจำนวนมาก
“คาโรชิ ซินโดรม” ส่งผลอะไรกับเราบ้าง ?
เมื่อร่างกายของเราทำงานหนักติดต่อกันมานานจนอ่อนเพลีย ย่อมเกิดภาวะของโรคคาโรชิ ซินโดรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างร้ายแรง คือ
- ผลกระทบต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการหัวใจวาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต
- ผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้อาจฆ่าตัวตายได้
“คาโรชิ ซินโดรม” มีอาการแบบไหน ?
สำหรับใครที่กังวลว่าตัวเองจะเป็นโรคคาโรชิ ซินโดรมหรือไม่ วิชาการ ได้นำวิธีตรวจสอบเบื้องต้นที่อาจเป็นความเสี่ยงในการเป็นโรค “คาโรชิ ซินโดรม” มาให้เช็คลิสต์กัน ดังนี้
- ทำงานติดต่อกันอย่างยาวนาน ทั้งที่เลิกงานแล้วก็ต้องนำงานกลับมาทำต่อที่บ้านหรือในวันหยุดของตนเอง
- เลิกงานเลยเวลาที่กำหนดบ่อย ๆ
- ในสมองมีแต่เรื่องงานให้ครุ่นคริด มักวิตกกังวลแต่เรื่องงานตลอดเวลา
- รู้สึกนอนหลับไม่เพียงพอ นอนไม่เต็มอิ่ม
- รู้สึกหมดพลัง หมดแรงไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉย ๆ
- แทบไม่สามารถลางานได้เลย เพราะงานไม่เสร็จหรือไม่มีคนทำแทน
“คาโรชิ ซินโดรม” ป้องกันได้อย่างไร ?
สำหรับแนวทางการป้องกันโรคคาโรชิ ซินโดรม ที่ทางวิชาการขอแนะนำทุกคนก็คือ
- วางตารางการทำงานที่ชัดเจน และกำหนดระยะเวลาพักผ่อนเป็นระยะ ๆ
- สร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนใช้ชีวิต เพราะโลกทั้งใบของเราไม่ได้มีแต่งานไปทั้งหมด แบ่งเวลาไปทำในสิ่งที่ชอบ หรืออยู่กับครอบครัว เพื่อนฝูงบ้าง
- พูดคุยกับหัวหน้างาน หาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันหากรู้สึกว่างานที่ทำหนักเกินไปจนกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และสุขภาพของเรา
- พบจิตแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษา เพราะสมัยนี้การพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ไม่ต้องอาย
- ลาออกจากงาน การหางานใหม่หากไม่สามารถยืดหยุ่นเรื่องภาระงาน หรือทางที่ทำงานไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้ เพราะบริษัทไม่ได้รักเราที่สุดหากเราเป็นอะไรไปไม่นานเค้าก็หาคนมาทำงานแทนอยู่ดี ดังนั้นสุขภาพกาย สุขภาพจิต ตลอดจนครอบครัวและตัวเราเองสำคัญที่สุด
Reference:
- JobsDB. (2565). คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) งานหนักไม่เคยฆ่าใคร แต่เราอาจตายเพราะบ้างาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566, จาก http://bit.ly/40DTmTw