ฝีดาษลิง (Monkeypox) โรคติดต่อชนิดใหม่ที่เราพึ่งได้ยินเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ล่าสุด ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นโรคฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศก็เพิ่มขึ้นมากเป็นหลายพันคน ในประเทศไทยเองเราก็เริ่มมีผู้ติดเชื้อค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเราจึงอยากพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับโรคนี้ และเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองไปด้วยกัน
ฝีดาษลิง คืออะไร?
ฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากติดเชื้อไวรัสประเภท Orthopoxvirus ที่แพร่จากสัตว์สู่คน โดยมีอาการคล้ายกับไข้ทรพิษหรือฝีดาษ (Smallpox) ที่เคยระบาดในอดีต ฝีดาษลิงถูกพบมากในทวีปแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตป่าร้อนชื้น นอกเหนือจากมนุษย์และสัตว์ตระกูลลิงแล้ว สัตว์อีกหลายชนิดสามารถติดและแพร่เชื้อโรคนี้ได้ เช่น สัตว์ตระกูลกระรอกและหนู ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ฝีดาษลิงตรวจพบในมนุษย์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 ชี้ให้เห็นว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคใหม่แต่อย่างใด เหตุผลสำคัญที่ทำโรคนี้เป็นที่สนไปทั่วโลก เพราะฝีดาษลิงมีการระบาดเป็นวงกว้างในหลายประเทศ ประเทศอังกฤษเพียงประเทศเดียวมีผู้ติดเชื้อไปแล้วถึง 2,800 คน ภายในไม่กี่สัปดาห์
อาการเป็นอย่างไรและรักษาอย่างไร
อาการเบื้องต้นของโรคฝีดาษลิงคือ มีไข้ (อุณหภูมิ 37.5 ขึ้นไป) อาจมีอาการหนาวสั่น, เจ็บคอ, เหนื่อยล้า หรือปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ หากได้รับในปริมาณมาก อาการเหล่านี้ก็จะแสดงออกเร็ว เมื่อเทียบกับคนไข้ที่ได้รับเชื้อปริมาณน้อย หลังจากที่อาการข้างเด่นชัด คนไข้จะเริ่มมีผื่นคันขึ้นตามบริเวณใบหน้า, แขน, ขา และลำตัวตามมา ผื่นตามร่างกายนี้จะกลายเป็นตุ่มใสขนาดใหญ่ มีสะเก็ดและตกสะเก็ดในภายหลังได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดรอยแผลเป็นตามมา โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวราว 5 – 20 วัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อฝีดาษลิงส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการผลิตยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคฝีดาษในคนและยังสามารถใช้รักษาโรคฝีดาษลิงได้อีกด้วย
ติดต่อได้อย่างไร
การติดต่อโรคฝีดาษลิงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทาง
- จากสัตว์สู่คน โดยเกิดจากการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง แผลบริเวณผิวหนังของสัตว์ที่ติดโรคโดยตรง รวมไปถึงการบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ไม่ปรุงสุก ซึ่งพบมากในแถบแอฟริกา
- จากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยติดต่อผ่านทางแผลตามผิวหนัง สารคัดหลั่งทางระบบทางเดินหายใจ หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อฝีดาษลิง การติดเชื้อทางละอองน้ำลายอาจเกิดขึ้นได้จากการสนทนาตัวต่อตัวในระยะใกล้ชิดเป็นเวลานาน
ป้องกันได้อย่างไร
เนื่องจากฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้จากการเข้าใกล้ผู้ป่วยและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำตา, น้ำลาย, น้ำมูก เราจึงควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อพบปะผู้คน มั่นล้างมือให้สะอาด, ลดการขยี้ตา, การแคะ, แกะ, เกาตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย, สังเกตอาการตนเองและคนใกล้ตัว, หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น แม้จะยังไม่มีรายงานสัตว์ติดเชื้อฝีดาษลิงในไทย แต่ก็อยากเตือนให้ทุกคนระวังสัตว์ประเภทฟันแทะ และระวังถูกสัตว์กัดหรือข่วนอีกด้วย
นอกจากนี้ข้อมูลหลายแห่งรายงานตรงกันว่า วัคซีนที่เคยใช้เพื่อป้องกันฝีดาษเมื่อหลายสิบปีก่อนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านฝีดาษลิงได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าสร้างความอุ่นใจให้ใครหลาย ๆ เลยทีเดียว แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเคยได้รับวัคซีนดังกล่าวหรือเรียกอีกอย่างว่า “การปลูกฝี” เพราะในปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคฝีดาษได้หมดไปจากโลก จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ หยุดการปลูกฝีรวมถึงประเทศไทยด้วย
Reference:
- BBC. (2565). What is monkeypox and how do you catch it?. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565, จาก https://bbc.in/3SJck7u
- องค์การอนามัยโลก (WHO). (2565). Monkeypox. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/30dlIVu
- รศ. พญ. พรรณพิศ สุวรรณกูล. (2565). ถาม – ตอบฝีดาษลิง รู้ระวังไม่ตื่นตระหนก. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/3pbexuY