รู้จัก “เลย์วี (LayV)” ไวรัสตัวใหม่จากจีน ที่ไม่ควรมองข้าม

          จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ เราต้องเจอกับการแพร่ระบาดของโรคใหม่ ๆ แปลก ๆ อยู่บ่อยครั้ง เมื่อย้อนกลับไปที่โรคโควิด-19 (COVID-19) ที่เริ่มระบาดเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จนกระทั่งป่านนี้โรคโควิดก็ยังไม่หายไป จากนั้นตามมาด้วย โรคฝีดาษลิงหรือโรคไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) ที่พบการรายงานการติดเชื้อเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

          และล่าสุด ทางจีนได้ออกมารายงานเรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า “Langya Henipavirus” หรือไวรัสเลย์วี (layV) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ในมณฑลเหอหนานและชานตง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน แม้ยังไม่มีการรายงานการระบาดในประเทศไทยก็ตาม แต่ วิชาการ จะพามารู้จักกับ “เลย์วี (LayV)” ไวรัสตัวใหม่จากจีน ที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อป้องกันจากการติดเชื้อโรคไวรัสเลย์วี ไปดูรายละเอียดกันได้เลย

ไวรัสเลย์วี (LayV) คืออะไร ? 

          เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม “Paramyxovirus” ซึ่งมีผลต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่นเดียวกับไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus), ไวรัสโรคหัด (Measles) และไวรัสคางทูม (ไวรัสมัมส์: Mumps) รวมถึงไวรัสที่ก่อโรครุนแรง 2 ชนิด นั่นคือ “Nipah” และ “Hendra” โดยที่ไวรัส 2 ชนิดนี้สามารถทำให้คนติดเชื้อได้สูงจริง แต่ด้วยความรุนแรงนี้ยังไม่ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้มากนัก เนื่องจากผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะเกิดการแพร่ระบาดได้

 

ไวรัสเลย์วี มีที่มาจากอะไร ? 

          ที่มาของชื่อ Langya (ลางยา) มาจากชื่อเมือง Langya มณฑลชานตง ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศ โดยทางทีมวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างด้วยการเอาไม้ป้ายลำคอ (Throat Swab) จากผู้ป่วยหญิง อายุ 53 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อ เพื่อหาลำดับดีเอ็นเอของจีโนมเชื้อไวรัส จึงได้พบว่าหญิงคนดังกล่าวได้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

          และมีข้อสันนิษฐานว่า “หนูผี (Shrew)” ซึ่งเป็นสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) ตระกูลตุ่น น่าจะเป็นพาหะของเชื้อไวรัสชนิดนี้ ก่อนที่จะแพร่มาสู่คน เนื่องจากมีการเทียบเคียงของไวรัสที่ได้จากหนูผีกับไวรัสเลย์วีที่ได้จากตัวผู้ป่วยนั้น มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก โดยพบในหนูผีจำนวนถึงร้อยละ 25 จากทั้งหมด 262 ตัว แต่อย่างไรก็ตามยังพบสัตว์อื่น ๆ ที่พบการติดเชื้อเช่นเดียวกัน คือ แพะ ร้อยละ 2 และสุนัข ร้อยละ 5 โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นชาวนาและเกษตรกร แต่ปัจจุบันยังไม่พบการติดเชื้อระหว่างคนสู่คน

 

อาการของผู้ป่วยไวรัสเลย์วี

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย อาเจียน และไอ โดยผู้ป่วยบางรายมีอาการปอดอักเสบ รวมถึงการทำงานของตับและไตลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใดมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้


การระบาด

          จากรายงานของทางประเทศจีน พบว่านับจากการพบการติดเชื้อไวรัสเลย์วีในคนครั้งแรกเมื่อปี 2561 จนปัจจุบัน ปี 2565 มีการรายงานยอดผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ที่ 35 ราย โดยผู้ป่วยทั้งหมดพบในประเทศจีน แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการระบาด เนื่องจากไม่ได้มีการเกิดการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ (Cluster) แต่ผู้ติดเชื้ออยู่ต่างสถานที่กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ กัน ถือเป็นการยืนยันข้อสันนิษฐานที่ว่าเป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้
          แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโดยเฉพาะ แต่ต้องย้ำว่ายังไม่มีรายงานการเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสเลย์วี ทางกรมควบคุมโรคจึงได้ออกมาชี้แจงต่อประชาชนว่าไม่ควรตื่นตระหนก ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสดังกล่าว

 

 


Reference:

  • Hfocus.  (2565).  ไทยติดตามผู้ป่วยไวรัสเลย์วีในจีน ขณะนี้ยังไม่พบแพร่ระบาดจากคนสู่คน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3hzDYWr
  • The Coverage.  (2565).  จีนอ่วม! ไวรัสชนิดใหม่โผล่ชื่อ ‘LayV’ ป่วยแล้ว 35 ราย ยังไม่มีรายงานเสียชีวิตคน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3DRJjj6
  • The Matter.  (2565).  จีนพบไวรัสใหม่ “เลย์วี” และมีผู้ติดเชื้อแล้ว 35 ราย ด้านนักวิทยาศาสตร์คาดว่ามีต้นตอจากสัตว์ตระกูลหนู.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3tEzyjX
  • กรุงเทพธุรกิจ.  (2565).  ไวรัส “เลย์วี” (LayV) พบแล้ว 35 เคสในจีน เผยอาการ ความรุนแรงวิธีการแพร่เชื้อ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3DXceCI
  • Smriti Mallapaty.  (2565).  New ‘Langya’ virus identified in China: what scientists know so far.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565, จาก https://go.nature.com/3EocxaX

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general