หากพูดถึงอาการเบื่ออาหาร (Loss of Appetite) แล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีอาการ ไม่อยากทานอาหาร, ทานอาหารได้น้อย หรือปฏิเสธอาหารที่เคยชอบ ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารลดลง เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารลดลง จะส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติไปด้วย และถ้าหากมีอาการเบื่ออาหารบ่อยมากขึ้น อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายได้
สาเหตุของอาการเบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหาร (Loss of Appetite) เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพกาย, ปัญหาสุขภาพจิต และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาเคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็ง หากมีอาการไม่รุนแรงก็มักจะหายได้เอง นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนเป็นประจำ ก็เป็นสาเหตุให้ความอยากอาหารลดลงได้ สำหรับใครที่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ, ภาวะแพ้ท้อง, มีการสัมผัสยาฆ่าแมลง, สารตะกั่ว หรือสารพิษอื่น ๆ ในบางรายก็ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้เช่นกัน รวมไปถึงผลข้างเคียงจากโรคร้ายแรงบางชนิด เช่น โรคข้อรูมาตอยด์, ความดันโลหิตสูง, มะเร็งกระเพาะอาหาร, ตับอักเสบ หรือโรคซึมเศร้ารุนแรง ก็ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการดังกล่าวได้
5 วิธีกระตุ้นความอยากอาหาร
- การปรับเปลี่ยนอาหาร ให้มีอาหารหลากหลายมากขึ้น ปริมาณแต่พอกิน เน้นให้มีสีสันจาก ผัก, ผลไม้ และกลิ่นอาหารที่ทำสดใหม่ เพื่อกระตุ้นให้มีความอยากอาหารมากขึ้น
- สร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร และให้เวลาตัวเองมากพอที่จะทานอาหารให้อิ่ม พยายามทำให้มื้ออาหารเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่เร่งรีบ
- เลือกกินอาหารที่เป็นจานเล็ก ๆ หรือ กินให้น้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น ดีกว่ากินอาหารจานใหญ่ ๆ ครั้งเดียว เพื่อให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น และลดอาการท้องอืด
- จัดเตรียมอาหาร เน้นคุณค่าทางอาหารที่สูงขึ้น และตกแต่งให้ดูน่ากินซึ่งควรเป็นอาหารจานโปรดของคุณ
- ทานวิตามินก่อนอาหาร ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร อีกทั้งการเบื่ออาหารส่งผลให้ระดับวิตามินต่าง ๆ ในร่างกายลดลง ดังนั้น การทานวิตามินบี 12, วิตามินดี และวิตามินอี ก็ช่วยเพิ่มระดับวิตามินที่เหมาะสมในร่างกายได้ (หากจำเป็นต้องการทานวิตามินในปริมาณมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ)
อาการเบื่ออาหารที่ควรไปพบแพทย์
- เด็กเล็กอายุ 1 – 3 ขวบที่ไม่กินอาหารนาน 2 – 3 วันหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย
- เด็กวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่มีอาการนานเกิน 7 วัน หรือมีอาการอาเจียน, ท้องเสีย, ไอ หรือปวดท้องร่วมด้วย และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
- กรณีที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการได้
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเบื่ออาหาร
ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ จะกลับมาอยากทานอาหารและรับประทานอาหารได้ตามปกติ เมื่อได้รับการรักษาและหายจากปัญหาดังกล่าว โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร และไม่ได้รับการรักษาให้หาย ผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนี้
- อ่อนเพลียมากกว่าปกติ
- น้ำหนักตัวลดลง
- หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นช้าจนผิดปกติ
- มีไข้ หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำลง
- รู้สึกไม่สบายตัว
- เกิดอาการป่วยหรือมีภาวะขาดสารอาหาร
References:
- ศรีสุภา ส่งแสงขจร. (2552). รักษาก่อนหาหมอ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์สุขภาพ.
- นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์. (2564). เบื่ออาหาร อาการ สาเหตุ การรักษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 05 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3r2tsZq
- Pobpad. (2565). เบื่ออาหาร. สืบค้นเมื่อวันที่ 04 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3DDLsi2