เรื่องน่ารู้ของ “กัญชา” อันตรายอย่างไรและมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

          กระแสกัญชาเสรีที่มีอยู่ในตอนนี้ ยังคงเป็นข้อถกเถียงในเรื่องของความปลอดภัยกันอยู่ เราสามารถปลูกเพื่อรับประทานได้ก็จริง แต่ยังคงมีข้อสงสัย ว่าต้องใช้กัญชาปริมาณเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย? กัญชาควรจะเหมาะสมเป็นพืชเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้นหรือไม่? วันนี้วิชาการมีคำตอบให้ แต่ก่อนอื่นเรามารู้ข้อมูลพื้นฐานของกัญชากันก่อน
          “กัญชา” เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ใบมีลักษณะสำคัญ คือ มี 5-8 แฉกในก้านเดียวกัน ออกดอกตามง่ามกิ่งก้าน ในอดีตเป็นพืชที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ได้ถูกปลดล็อกไปเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

สารสำคัญในกัญชา

มี 2 ชนิด ได้แก่

  1. Tetrahydrocannabinol (THC) มีผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทในสมอง โดยเฉพาะสมองในส่วนที่มีผลต่อความจำ, ความคิด, สมาธิ รวมถึงการรับรู้ทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ ซึ่งถือว่ามีเป็นสารที่อันตราย มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จึงจำเป็นที่ต้องจำกัดการรับประทาน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสาร THC เกิน 0.2%
  2. Cannabidiol (CBD) เป็นสารที่ไม่ส่งผลต่อระบบประสาท แต่จะสามารถช่วยให้ผ่อนคลายได้

          ซึ่งในใบกัญชา จะประกอบด้วย THC และ CBD อยู่ 12% และ 0.3% ตามลำดับ แม้ว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้คล้ายกันมาก แต่มีผลออกฤทธิ์ที่ต่างกัน โดยที่ CBD ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายของมนุษย์เท่ากับ THC ดังนั้น อาการข้างเคียงที่เราพบเห็นไม่ว่าจะเป็นอาการปากแห้ง, กระหายน้ำ, หัวใจเต้นเร็ว ฯลฯ จึงมักเป็นอาการข้างเคียงจากสาร THC ทั้งสิ้น แต่หากเราต้องการใช้ประโยชน์จาก CBD ได้มากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยการสกัดผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมแปรรูปหรือทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น

 

กัญชากับผลกระทบต่อร่างกาย

          ในใบกัญชาสด สารสำคัญทั้ง 2 จะอยู่ในรูปของ Cannabidiol acid (CBDA) และ Tetrahydrocannabinol acid (THCA) ซึ่งไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่เมา) แต่เมื่อนำไปผ่านความร้อนของกระบวนการปรุงอาหารและเก็บรักษา ทำให้สาร THCA กลายไปเป็นสาร THC เมื่อออกฤทธิ์ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้

  • มีผลต่อระบบประสาท หากใช้ในปริมาณมากเกินไป ทำให้มีอาการ เช่นก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดระแวง ง่วงซึม สับสน ซึม เวียนศีรษะ เดินเซ เห็นภาพหลอน ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก เป็นต้น
  • มีผลต่อระบบหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จนมีผลทำให้เสียชีวิตได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หน้ามืดหรือวูบ แน่นหน้าอก หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นต้น
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง และอาเจียน
  • มีผลต่อกระดูก ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกแตกหักง่าย
  • มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ อาการเจ็บหน้าอก เสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อปอด และเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดเช่นเดียวกับผู้ที่มักสูบบุหรี่เป็นประจำ

 

ประโยชน์ทางการแพทย์

          ในอดีตกัญชาถือว่าเป็นพืชสมุนไพร เนื่องจากมีตำรับยารักษาโรคบางโรคมีส่วนผสมของกัญชาอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในตำรับที่ช่วยในเรื่องการนอนหลับ ลดความวิตกกังวล และในเรื่องการเจริญอาหาร แม้สาร THC มีฤทธิ์ที่เป็นอันตรายก็ตามที (ในกรณีใช้กัญชาในปริมาณมาก) แต่สาร THC ก็มีประโยชน์ในทางการแพทย์ ได้แก่

  • ลดอาการคลื่นไส้จากยาเคมีบำบัดมะเร็ง
  • ลดอาการปวดเรื้อรัง
  • ลดการเบื่ออาหาร
  • ลดอาการเกร็ง ในผู้ป่วยโรคระบบประสาทบางชนิด

ส่วนสาร CBD มีประโยชน์ในทางการแพทย์ ได้แก่

  • ลดอาการทางจิตประสาท ป้องกันการสูญเสียของความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นผลจากการได้รับสาร THC ที่มากเกินไป
  • ลดอาการวิตกกังวล ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับสาร THC ที่มากเกิน
  • ช่วยให้ผ่อนคลาย ป้องกันโรคนอนไม่หลับ (Anti-Insomnia)
  • ควบคุมอาการสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน


ข้อควรระวัง

  • ควรใช้แต่ “ใบ” ไม่ควรใช้ “ช่อดอก” รวมถึงส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิ่ง, ก้าน, ลำต้น, ราก มาประกอบในอาหาร
  • แนะนำให้ใช้ “ใบกัญชาสด 1-2 ใบ” ในการประกอบอาหารต่อหนึ่งเมนูเท่านั้น
  • คนที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา
  • เด็ก เยาวชน หรือคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี รวมถึงสตรีตั้งครรภ์และอยู่ระหว่างให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เนื่องจากสามารถถ่ายทอดผ่านทารกในครรภ์และผ่านทางน้ำนมแม่ได้
  • ผู้ที่ต้องใช้หรือรับประทานกัญชา เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ควรต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ ฯลฯ
  • ไม่ควรใช้กัญชาในรูปแบบของ “การสูบ” เพราะควันจากกัญชามีผลต่อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงกลิ่นและควัน สร้างความเดือดร้อน ความรำคาญแก่ผู้อื่น อีกทั้งยังผิดกฎหมาย อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท

          จะเห็นได้ว่ากัญชามีคุณประโยชน์ในทางการแพทย์มากมาย หากใช้ไม่มากเกินไปและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ก็จะทำให้อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กัญชานั้นลดน้อยลงได้

 

 


Reference:

  • กรมสุขภาพจิต.  (2562).  CBD และ THC ในพืชกัญชา คืออะไร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3Spy9IO
  • กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.  (2563).  กัญชา (Cannabis).  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3SpTrGg
  • ธนกร กาญจนประดับ ;และกรกมล โหรสกุล.  (2565).  กัญชา ส่งผลกระทบต่อเด็กและวัยรุ่นอย่างไร?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3S3bFgV
  • ไลท์เฮ้าส์.  (2565).  ผลเสียของกัญชาต่อสุขภาพ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3S8gsNV

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general