ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด (COVID-19) กลับมาอีกครั้ง แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะโรคระบาดฉุกเฉินของโรคโควิด-19 แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และมีการแพร่กระจายเชื่ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ก็ได้เริ่มแพร่กระจายในไทยอีกครั้ง วันนี้ วิชาการ เลยอยากพามารู้จักกับโควิดสายพันธุ์นี้เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือกัน !
โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 คืออะไร ?
โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 หรือ อาร์คตูรุส (Arcturus) เป็นเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB ที่องค์การอนามัยโลกเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
- เกิดจากการผสมสายพันธุ์ระหว่าง BA.2.10.1 และ BA.2.75
- ตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566
- องค์การอนามัยโลกรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 อย่างน้อย 3,000 รายทั่วโลก ในช่วงกลางเดือนเมษายน
โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร ?
โดยอ้างอิงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวในญี่ปุ่นระบุว่า “โควิด XBB.1.16 มีการเปลี่ยนแปลงที่โปรตีนหนามอส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ XBB.1 และ XBB.1.5 ประมาณ 1.17-1.27 เท่า” และยังเพิ่มเติมอีกว่า “โควิดสายพันธุ์นี้มีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ในเวลาไม่นาน รวมทั้งยังมีความสามารถในการต่อต้านแอนติบอดีโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
อาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ?
อาการเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ไม่รุนแรงมาก เช่น
- ไข้สูง
- ระคายเคืองดวงตาหรือใบหน้า
- ไอ
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหล
- การรับกลิ่นของจมูกผิดปกติ
ในประเทศอินเดียมีการรายงานว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 มีอาการสำคัญคือ เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดงหรือคันตา โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งอาจเป็นอาการบ่งชี้ของโควิด XBB.1.16 หากสงสัยควรไปตรวจให้แน่ใจ เพราะอาจเข้าใจผิดได้ว่าเป็นอาการภูมิแพ้ ซึ่งศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า “โควิดสายพันธุ์ XBB.1 .16 ที่มาจากอินเดียไม่อันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แพร่ระบาดง่าย”
กลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง หากติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16
- ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความหนาของฝุ่น PM 2.5
- ผู้ป่วยโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง โรคอ้วน มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ
- หญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
- ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน
มาตรการป้องกันโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16
ด้านกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้มีการแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตาม ดังนี้
- เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- เน้นการป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น ตลาด, ในโรงเรียน, ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
- ต้องรักษาความสะอาดและสุขอนามัยด้วยการล้างมือเป็นประจำ ผู้ที่ติดเชื้อควรจะต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด และควรกักตัวที่บ้าน
Reference:
- บีบีซี ไทย. (2566). โควิด XBB.1.16: อันตรายแค่ไหน เสี่ยงกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยและทั่วโลกหรือไม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566, จาก https://bbc.in/3NKMKyS
- โรงพยาบาลเพชรเวช. (2566). โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ล่าสุด ปี 2566 เป็นอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/41ebcvv
- โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา. (2566). โควิด XBB.1.16 ติดง่ายแค่ไหน ต่างจากสายพันธุ์เดิมอย่างไร?. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/42mtwnB