โรคซึมเศร้า ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนที่คุณรัก แบบไม่รู้ตัว

       

          ปัจจุบันข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ มากมาย มีการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง การพยายามฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มสูงขึ้น บางรายอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว บางรายก็ตั้งใจ หนึ่งในสาเหตุที่กล่าวถึงกันอย่างมากก็คือ “โรคซึมเศร้าวิชาการ มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น

โรคซึมเศร้าคืออะไร

เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสีย ซึ่งอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอยู่นาน โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรงขึ้น มีอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น หลับ ๆ ตื่น ๆ, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลดลงมาก, หมดความสนใจต่อโลกภายนอก, ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป นอกจากมีอาการซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการทำกิจวัตรต่าง ๆ ก็แย่ลงด้วย

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

  1. กรรมพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องสูงกับโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
  2. สารเคมีในสมอง มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองและมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อประสาท
  3. ลักษณะนิสัยบางประการ มองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย

ปัจจัยเสี่ยงโรคซึมเศร้า

  1. ลักษณะนิสัยบางประการ เช่น มองโลกในแง่ร้าย, การตำหนิตนเอง, การพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป เป็นต้น
  2. ผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย, ถูกทารุณกรรมทางเพศ, สูญเสียคนในครอบครัว, มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ เป็นต้น
  3. คนในครอบครัวมีประวัติติดสุราเรื้อรัง ฆ่าตัวตาย เป็นโรคซึมเศร้า
  4. มีประวัติความเจ็บป่วยทางจิตเวช
  5. ภาวะติดสุราเรื้อรัง
  6. โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง
  7. การใช้ยา เช่น ยานอนหลับ, ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น


ลักษณะอาการที่เปลี่ยนแปลงจากปกติ

  1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กน้อยอ่อนไหวไปหมด
  2. ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรรู้สึกแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดล้มเหลว
  3. สมาธิความจำแย่ลง หลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ ๆ
  4. มีอาการทางร่างกายต่าง ๆ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร
  5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ไม่ร่าเริงแจ่มใส เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร
  6. การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่องานลดลง ทำลวก ๆ เพียงให้ผ่านไป
  7. อาการโรคจิต อาการหลงผิดหรือประสาทหลอน มีความคิดพยายามฆ่าตัวตาย

เกณฑ์การวินิจฉัยโรค

มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

  1. อารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน
  2. ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มมากขึ้น มีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
  4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
  5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
  6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
  9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
    *ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
    *ต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่ หรือถ้ายังไม่แน่ใจว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ สามารถทำแบบทดสอบได้ตามลิงก์นี้ได้เลย https://bit.ly/3kxnGih

การรักษาโรคซึมเศร้า

          การรักษาหลักของโรคซึมเศร้าคือการพูดคุยให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด และการใช้ยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  1. ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้น
  2. อย่าตั้งเป้าหมาย ในการทำงาน และการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป
  3. เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราชอบ
  4. อย่าตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อชีวิต เช่น การหย่า, การลาออกจากงาน เป็นต้น
  5. การมองปัญหา โดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร

          สำหรับท่านใดที่สังเกตตัวเองหรือสงสัยว่าตัวเองกำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้าอยู่หรือไม่ บทความนี้คงเป็นประโยชน์กับท่านที่อ่านบทความ เพื่อนำไปสู่กระบวนการรักษา หรือมีบุคคลใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคซึมเศร้า จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินแก้ ก่อนเกิดการสูญเสียที่ไม่อาจกลับไปแก้ไขได้ วิชาการ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ

Reference:

  • คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.  (2566).  โรคซึมเศร้าโดยละเอียด.  สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565, https://bit.ly/3kAO2je
  • Sanook.  (2565).  รู้จัก “โรคซึมเศร้า” มีอาการอย่างไร และวิธีการดูแล ฟื้นฟูจิตใจ.  สืบค้นเมื่อันที่ 20 มกราคม 2565, จาก https://bit.ly/2zVPvGE
  • MedPark Hospital.  (2565).  โรคซึมเศร้า.  สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565, จาก https://bit.ly/3J4jFvM




วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general