โรคสมาธิสั้นเทียมคืออะไร ใครเสี่ยงต่อโรคนี้บ้าง

          หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินมาบ้าง เรื่องเด็กดื้อ เด็กซน จนคุณพ่อ คุณแม่หลายท่านปวดหัวกันเลยทีเดียว แต่น้อยคนนักที่จะใส่ใจว่าที่แท้จริงแล้ว เด็กดื้อตามธรรมชาติหรือเกิดจากโรคสมาธิสั้น ซึ่งจะมีปัจจัยมาจากพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าส่งผลให้เด็ก ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิจดจ่อ แต่ก็มีปัจจัยที่เกิดจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูทำให้เด็กเกิดเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม วิชาการ มีสาระเกี่ยวกับโรคนี้ให้ทุกท่านได้อ่านกัน

สมาธิสั้นเทียมคืออะไร

          โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder ;ADHD)
เป็นภาวะที่เกิดจากสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมทำงานลดลง เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม

กลุ่มอาการของโรคสมาธิสั้น

  • ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactive)
    • มีความตื่นตัวที่แสดงถึงความลุกลนตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่งได้
  • ขาดความเอาใจใส่ (Inattention)
    • ไม่มีสมาธิและไม่สามารถจดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน เหม่อลอยหรือไม่สนใจรายละเอียดของสิ่งรอบตัว
  • หุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
    • ขาดความยับยั้งชั่งใจในการแสดงออกและไม่สามารถอดทนรอคอยที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนหรือจังหวะเวลาที่เหมาะสมได้

โรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo- Attention Deficit Hyperactivity Disorder ;Pseudo-ADHD)
เป็นกลุ่มอาการเดียวกันกับโรคสมาธิสั้น แต่มีปัจจัยมาจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคสมาธิสั้นเทียม

  1. สื่อดิจิทัล/Internet
    • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป มีความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร ข้อมูล ข่าวสาร บันเทิงต่าง ๆ ส่งผลให้เด็กที่เกิดในยุคนี้สมองถูกกระตุ้นด้วยแสง สีบนหน้าจออันน่าตื่นตาตื่นใจตลอดเวลาและมีการตอบสนองภายในเวลาอันรวดเร็ว เด็กในยุคนี้จึงไม่สามารถรอคอยหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เมื่อประสบกับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้เวลารอคอยไม่รวดเร็วทันใจอย่างเช่นโลกดิจิทัล
  2. โลกแห่งการแข่งขัน
    • ปัจจุบันเด็กถูกกระตุ้นให้ใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบและต้องมีการแข่งขันตลอดเวลา โดยได้รับความคาดหวังจากพ่อแม่ให้เด็กมีผลการเรียนที่ดี มีอนาคตที่ดีกว่าคนอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดการเร่งรัด ยัดเยียดให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ เกินช่วงวัย ไม่ได้ใช้ชีวิตในวันเด็กตามแบบที่ควรจะเป็น ส่งผลต่อด้านพัฒนาการของเด็ก
  3. โลกที่สร้างจากในบ้าน
    • พ่อแม่จำนวนมากในปัจจุบันต้องทำงานนอกบ้าน ส่งผลให้ไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ปล่อยปละละเลย ขาดการเรียนรู้และการฝึกฝนความรับผิดชอบตั้งแต่ที่บ้าน รวมไปถึงการใช้สมาร์ทโฟน แท็บแล็ต เข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงลูกเพื่อช่วยในการทุ่นแรง ทำให้เด็กจดจ่อและติดหน้าจอมากกว่าการเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งที่อยู่รอบตัว

ลูกอายุเท่าไหร่ให้เล่นมือถือได้ ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดจอ?

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม

  1. เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเป็นระยะเวลานาน
    • ส่งผลให้ติดหน้าจอแล้วไม่รู้จักการรอคอย ใจร้อน หุนหันพลันแล่น
  2. เด็กที่ต้องมีการแข่งขันสูง
    • การทำสิ่งต่าง ๆ เกินวัย เพื่อแข่งขันกับผู้อื่น ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
  3. เด็กที่เรียนหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน
    • ส่งผลให้เกิดความเครียด อาจทำให้เกิดอาการเหม่อลอย ไม่พูด ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
  4. เด็กที่ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
    • ไม่มีการผ่อนคลายหรือปลดปล่อยความเครียด ส่งผลต่ออารมณ์ทำให้ไม่มีการพูดจา ติดต่อสื่อสาร ขาดความเอาใจใส่ผู้อื่น
  5. เด็กที่ไม่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ
    • เด็กที่ติดหน้าจอ ไม่มีการขยับร่างกายส่งผลต่อสุขภาพกาย สภาวะทางจิตใจ ทำให้ไม่สนใจต่อสิ่งรอบตัว สนใจแค่หน้าจอสมาร์ทโฟน

การป้องกันโรคสมาธิสั้นเทียม

  1. สร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว
    • พ่อแม่ควรสร้างเสริมความสัมพันธ์ ส่งมอบความรัก ความเข้าใจโดยใช้เวลาที่มีคุณค่ากับลูกเพิ่มมากขึ้น
  2. เพิ่มเวลาให้กับครอบครัว
    • ลดเวลาโลกออนไลน์ลง โดยทั้งคุณพ่อ คุณแม่ลดการใช้สมาร์ทโฟนลง รวมไปถึงแนะนำเวลาการใช้งานที่เหมาะสมให้กับลูกด้วย
  3. สนับสนุนกิจกรรมที่เด็กชื่นชอบ
    • กิจกรรมใดที่เด็กชื่นชอบ พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี กีฬา เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กจากหน้าจอสมาร์ทโฟน
  4. สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้
    • ควรลดสิ่งเร้าและสภาวะที่สร้างความกดดันให้เด็กเกิดความเครียดและวิตกกังวลกับการใช้ชีวิต โดยให้เด็กตัดสินใจลองผิด ลองถูก ยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง
  5. มอบหมายงานให้รับผิดชอบ
    • การมอบหมายงานง่าย ๆ ให้เด็กรับผิดชอบจะทำให้เด็กมีสมาธิ จดจ่อและตั้งใจเพิ่มขึ้น เมื่อทำงานสำเร็จควรได้รับคำชมจากผู้ปกครองเป็นกระตุ้นให้อยากทำงานเสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย

          โรคสมาธิสั้นเทียมสามารถหายได้ โดยไม่ต้องใช้ยาในการรักษา ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ ไม่กดดัน เอาใจใส่ สร้างความรัก ความผูกพันในครอบครัว ดึงดูดความสนใจเด็กจากหน้าจอ สมาร์ทโฟนให้ได้ ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอนานจนติดและคุ้นเคยกับการใช้งาน ส่งผลให้เกิดเป็นโรคสมาธิสั้นเทียมได้ ด้วยรักและห่วงใย เด็กรุ่นใหม่ห่างไกล หน้าจอ

Reference

  • กรมสุขภาพจิต.  (2566).  ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงเป็น”สมาธิสั้นเทียม” กันมากขึ้น.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3ZYTFrz
  • โรงพยาบาลมนารมย์.  (2566).  โรคสมาธิสั้น.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3ZZDFFE
    Parentsone.  (2563).  พ่อแม่ต้อรู้!โรคสมาธิสั้นเทียมเกิดกับเด็กติดหน้าจอ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3JrRZji

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general