โรค NCDs คืออะไร การติดต่อ ป้องกันได้ไหม?

          โรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หมายถึง กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อโรค ไม่สามารถแพร่กระจาย สาเหตุของโรคส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แล้วเกิดสะสมอาการของโรคอย่างช้า ๆ จนกระทั่งอาการนั้นรุนแรงขึ้นจนเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ พบว่าจำนวนของผู้ป่วยโรค NCDs ในโลก นั้นมากขึ้นทุกปี โดยมีการรายงานข้อมูลสถิติที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนของผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ทั่วโลกมีสัดส่วนสูงมากถึง 73% เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่พบในประเทศที่กำลังพัฒนา

สาเหตุการเกิดโรค NCDs

          สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือการไม่ดูแลตัวเอง เน้นไปที่พฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่ไม่ระมัดระวัง เริ่มตั้งแต่การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินความจำเป็น หรือการรับประทานที่มีไขมันสูง เช่น พวกอาหารฟาสต์ฟู้ด, อาหารพวกปิ้งย่าง หรืออาหารที่มีรสจัด ไม่ว่าจะเป็น รสเผ็ดมาก, เค็มมาก, หวานมาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการไม่ดูแลร่างกายตัวเอง เช่น การนอนดึก, การไม่ออกกำลังกาย, ความเครียด ซึ่งพฤติกรรมที่กล่าวมาก่อให้เกิดโรคทาง NCDs เช่น โรคอ้วน, โรคความดัน, โรคหัวใจ, โรคไต, โรคเบาหวาน ได้มากกว่าคนอื่น

โรค ในกลุ่ม NCDs ประกอบไปด้วย

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคอ้วนลงพุง
  • โรคมะเร็ง
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ
  • โรคตับแข็ง
  • โรคสมองเสื่อม

          ในส่วนประเทศไทยเองนั้นพบแนวโน้มที่จำนวนผู้เสียชีวิตของผู้ป่วยโรค NCDs สูงขึ้นทุกปี โดยจัดอันดับ 6 โรคที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็ง, โรคความดันโลหิตสูง และ โรคอ้วนลงพุง และพบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง คิดเป็นร้อยละ 21.4 นอกจากนี้จากรายงานของสสส. ได้กล่าวถึงการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลกในเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือ ในปี 2573 จะมีจำนวนสูงถึง 23 ล้านคน โดยที่ร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

Checklist ของการมีแนวโน้มจะเป็นหนึ่งในผู้ป่วย NCDs ในอนาคต

หากพบว่าตัวเองเข้าข่ายอยู่ในข้อใดข้อหนึ่งนี้ ก็ถือท่านเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นผู้ป่วยโรค NCDs แล้ว

  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่
  • กินอาหารหวาน-มัน-เค็ม
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • เครียดบ่อย
  • มีพ่อ-แม่/ญาติใกล้ชิดป่วยเป็นกลุ่มโรค NCDs

การป้องกัน

          การป้องกันทำได้ง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีความระมัดระวัง ทั้งนี้ก็เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการงดการดื่มแอลกอฮอล์, งดการสูบบุหรี่, พักผ่อนให้เพียงพอ, หลีกเลี่ยงความเครียด อาจจะหากิจกรรมทำ เช่น การหมั่นออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และข้อสำคัญการดูแลเรื่องการรับประทาน ซึ่งหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกอาหารรสจัด อาหารที่มีรสจัดต่าง ๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ และเพิ่มเติมอีกนิดในเรื่องของการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย


          ในปัจจุบัน สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรค NCDs และเดินหน้ารณรงค์การลดปัจจัยเสี่ยงพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเราคนไทย ให้เน้นอาหารสุขภาพที่มีสัดส่วนผัก-ผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันโรคอ้วนและโรคกลุ่ม NCDs ซึ่งหากเราเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ได้ ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นผู้ป่วยโรค NCDs ลงได้ ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงต้องรีบหันมาดูแลตัวเองแล้วนะคะ

 


Reference:

  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  (2564).  กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs)…โรคที่เกิดจากพฤติกรรม.  สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3z74TOu
  • โรงพยาบาลบางปะกอก สมุทรปราการ.  (2564).  ทำความรู้จักกับโรค NCDs.  สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3S3lBqm
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.  (2565).  กลุ่มโรค NCDs.  สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/2IOhYp0

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general