“ไข้หวัดมะเขือเทศ” คืออะไร อาการเป็นอย่างไร และป้องกันด้วยวิธีใด

          ในช่วงปีที่ผ่านมาเราต้องรับมือกับโรคภัยต่าง ๆ มากมาย โควิด-19 ก็ไม่หายไปไหน แถมมีโรคฝีดาษลิงที่เริ่มมีผู้ป่วยในไทยแล้วถึง 7 ราย ล่าสุดที่อินเดียได้ประกาศการแพร่ระบาดของโรค ไข้หวัดมะเขือเทศ ในเด็กซึ่งมีรายงานเด็กติดเชื้อแล้วกว่า 100 รายในอินเดีย ทำให้ ไข้หวัดมะเขือเทศ เป็นอีกหนึ่งโรคอุบัติใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังว่า โรคไข้หวัดมะเขือเทศคืออะไร ติดต่อได้อย่างไร และเราจะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร

ไข้หวัดมะเขือเทศ คืออะไร?

          ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) เป็นโรคที่พบครั้งแรกวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่รัฐเกรละ ประเทศอินเดีย และมีการแพร่กระจายไปยังรัฐข้างเคียงอื่น ๆ จากผลการตรวจ PCR พบว่าเป็นไวรัสกลุ่ม Enterovirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก และการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมอย่างละเอียดพบว่าเป็นไวรัส Coxsackie A16 ตัวเดียวกันกับที่มีรายงานการระบาดในประเทศจีน ส่วนที่มาของชื่อโรคนั้นมาจากลักษณะอาการผู้ติดเชื้อที่มีตุ่มแดงบนผิวหนังและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายผลมะเขือเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรับประทานมะเขือเทศแต่อย่างใด

          ไข้หวัดมะเขือเทศ เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย พบมากในเด็ก เพราะมีการสัมผัสพื้นผิวสกปรก, สัมผัสตาและปากด้วยมือที่ไม่สะอาด นักวิชาการมีการสันนิษฐานถึงที่มาของโรคว่า อาจเป็นผลพวงจากการติดเชื้อ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เลือดออกในเด็ก ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ ไข้หวัดมะเขือเทศ เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนามาจากโรคมือเท้าปาก ซึ่งระบาดในเด็กช่วงวัย 1-5 ปี และผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายก็พยายามทำการศึกษาถึงที่มาของโรคต่อไป ทางการอินเดียชี้แจงสถานการณ์ว่าเป็นโรคที่ไม่น่ากังวล และกระจายในวงจำกัด และยังไม่พบผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยในไทย แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีมาตการเฝ้าระวัง เพราะขณะนี้มีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากภายหลังการเปิดประเทศ

อาการเป็นอย่างไร

          อาการเบื้องต้นในเด็กใกล้เคียงกับ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือมีไข้สูง, ผื่นคัน, ปวดตามข้อต่อและตามร่างกาย หลังจากนั้นก็จะมีตุ่มแผลพุพองและผื่นแดง ตุ่มจะมีขนาดใหญ่ขึ้นคล้ายมะเขือเทศ อาการร่วมอื่น ๆ เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย, คลื่นไส้, อาเจียน, และท้องร่วง มีลักษณะกลุ่มอาการคล้าย ไข้หวัดทั่วไป และโรคไข้เลือดออก แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต การตรวจวินิจฉัยโรค ไข้หวัดมะเขือเทศ ทำได้ในเด็กที่มีอาการดังกล่าว โดยจะใช้การตรวจระดับโมเลกุลและเซรุ่มในเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อไข้เลือดออก, โรคไข้ปวดข้อยุงลาย, มือเท้าปาก, โรคไข้ซิกา และโรคงูสวัด เมื่อไม่พบเชื้อเหล่านี้ก็จะมีการสรุปว่าคนไข้ที่มีอาการดังกล่าวเป็น โรคไข้หวัดมะเขือเทศ

รักษาอย่างไร

          แม้จะยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค แต่การรักษา โรคไข้หวัดมะเขือเทศ คือ กักตัวแยกออกจากคนที่ไม่เป็นโรคเป็นเวลา 5-7 วัน, พักผ่อนให้เพียงพอ, ดื่มน้ำสม่ำเสมอ, ใช้ฟอกน้ำชุบน้ำอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดและปวดแสบของตุ่มตามผิวหนังซึ่งทำให้เกิดอาการคันตามมา มีการแนะนำให้ใช้ พาราเซตามอล เพื่อลดไข้ และบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นตามลำดับและหายได้เอง

ติดต่อได้อย่างไร

          ความชื้นและอาการที่เย็นลงในฤดูฝนส่งผลให้การแพร่กระจายเชื้อโรคเกิดได้ง่ายขึ้น ซึ่ง โรคไข้หวัดมะเขือเทศ เป็นโรคที่ติดเร็วและง่าย โดยเชื้อแพร่ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย, สัมผัสพื้นผิวไม่สะอาด, และสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ ผู้ปกครองควรเฝ้าดูระวังอาการของลูกหลานเป็นพิเศษ เพราะเด็กมักใช้มือสัมผัสสิ่งของเข้าปาก

ป้องกันได้อย่างไร

          วิธีการป้องกันคือ รักษาความสะอาด ร่างกาย, สิ่งของ และที่อยู่อาศัยเป็นประจำ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ของเล่น, อาหาร, เสื้อผ้า ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวโดยเฉพาะ จึงควรมีการเฝ้าระวัง เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค


Reference:

  • Principalhealth.  (2565).  กรมควบคุมโรค ตามสถานการณ์ “โรคไข้หวัดมะเขือเทศ” ในอินเดีย เผย พบผู้ป่วยเด็ก อาการไม่รุนแรง หายเองได้.  สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3KI6pff
  • Vivek P. Chavda และคณะ.  (2565).  Tomato flu outbreak in India.  สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3AKF9YU
  • BBC.  (2565).  ไข้หวัดมะเขือเทศ : สธ. ไทยสั่งจับตาโรค หลังเด็กอินเดียติดเชื้อทะลุร้อย.  สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565, จาก https://bbc.in/3qbukdq


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general