ไมโครพลาสติกคืออะไร อันตรายถึงชีวิตจริงหรือไม่?

          พลาสติกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นอันตรายและเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก แม้กระทั่งย่อยสลายแล้วก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่เปลี่ยนจากพลาสติกชิ้นใหญ่กลายเป็นอนุภาคเล็ก ๆ หรือถูกผลิตมาให้เล็กตั้งแต่ต้น เรียกว่า ไมโครพลาสติก ซึ่งปัจจุบันพบว่าปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติที่เป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมทั้งมนุษย์ด้วย ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย วิชาการ มีความรู้เกี่ยวกับไมโครพลาสติกมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน

ไมโครพลาสติกคืออะไร?

          ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่รูปร่าง ทรงกลม ทรงรี หรือบางรูปร่างไม่แน่นอน

ประเภทของไมโครพลาสติกมีอะไรบ้าง?

  1. Primary microplastics
    เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาเป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติกที่อยู่ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้า หรือยาสีฟัน ซึ่งมักเรียกว่า ไมโครบีดส์ หรือ เม็ดสครับ เป็นต้น
  2. Secordary microplastics
    เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่หรือมาโครพลาสติก ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก ได้แก่ กระบวนการย่อยสลายทางกล กระบวนการย่อยสลายทางเคมี กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ กระบวนการย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกหักจนมีขนาดเล็ก

การเข้าสู่ร่างกายของไมโครพลาสติก

          สามารถเข้สู่ร่างกายมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการดื่มน้ำจากขวดพลาสติก การหายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไป การรับประทานปลาหรือสิ่งมีชีวิตที่มีไมโครพลาสติก เป็นต้น

ผลกระทบต่อร่างกายของไมโครพลาสติก

  1. ขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด ไมโครพลาสติกที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก เนื่องจากมีขนาดเล็กจึงสามารถเข้าสู่กระแสเลือดแล้วล่องลอยอยู่ในหลอดเลือด ส่งผลให้ไปทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือดและปิดกั้นการไหลเวียนเลือดได้
  2. ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เมื่อฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจปล่อยโลหะหนักที่ติดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เนื้อเยื่อ ก่อให้เกิดมะเร็งได้
  3. รบกวนฮอร์โมนร่างกาย ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า Bisphenol A (BPA) อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อที่มีผลกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศของเพศชายได้
  4. เป็นตัวกลางนำสารพิษ คุณสมบัติการดูดซับหรืออุ้มน้ำได้ของไมโครพลาสติก ทำให้เกิดการเก็บเอาสารพิษบางประเภท เช่น สารพิษในยาฆ่าแมลงในน้ำ สัตว์จะได้รับพิษแล้วมนุษย์ได้รับต่อจากการรับประทาน เป็นต้น
  5. เด็กมีพัฒนาการลดลง สารBPA มีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและการทำงานของระบบประสาทลดลง

          ไมโครพลาสติกถึงจะมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่โทษต่อร่างกายมีมากมายหลายประการ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน เกิดอันตรายต่อชีวิตอย่างแน่นอน ดังนั้นทุกคนควรช่วยกันลดการใช้พลาสติก เพื่อลดจำนวนไมโครพลาสติก

Reference:

  • มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์.  (2564).  ผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3YJPKOK
  • PRETROMAT. ( 2565).  ไมโครพลาสติกผลกระทบต่อมนุษย์.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3XFUYti
  • MARUMO.  (2564).  อันตรายของไมโครพลาสติกเป็นอย่างไร?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3xw1TdZ

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general