ภาวะเจ็บป่วยของคนเราเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะต้องทำยังไงกันล่ะ มั่นใจเลยว่ามีคนคนหนึ่งที่เรานึกถึงเป็นคนแรกเลย นั่นก็คือคุณหมอนั่นเอง แต่ใช่ว่าหลายคนจะทำใจไปหาหมอกันได้ง่าย ๆ ลองมาฟังเหตุผลยอดฮิตของการปฏิเสธไม่ไปพอหมอเพื่อรักษาอาการ ถึงแม้ว่าเขาเหล่านั้นมีอาการเจ็บป่วยก็ตาม
1. คิดว่าตัวเองไม่ได้ป่วยอะไร กินยาเดี๋ยวก็หายเอง
ในบางคนมีความคิดที่ว่า อาการป่วยของฉันเกิดจากสาเหตุนี้สาเหตุนั้น ค้นหาสาเหตุการเกิดโรคได้โดยตนเอง เลยมีความมั่นใจตามมาว่า เขาเหล่านั้นสามารถที่จะรักษาตัวเองได้ นอนพักผ่อน กินรักษาตามอาการ เดี๋ยวก็คงหายไปเอง ปวดหัวก็ทานยาแก้ปวด เจ็บคอก็ทานยาแก้เจ็บคอ
ใครมีความคิดแบบนี้ถือว่าอันตรายมาก ต้องเปลี่ยนทัศนคติตัวเองเสียใหม่ จริงอยู่ที่โรคบางโรค เช่น โรคหวัดหรือท้องเสียนั้น สามารถรักษาได้ด้วยตนเองได้ ใช้เพียงแค่การดูแลตัวเองและทานยาตามอาการ แต่ในบางครั้ง การไปโรงพยาบาลไปพบแพทย์เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหลีกเลี่ยงอาการร้ายแรงที่อาจจะตามมา
2. กลัวเสียเวลา เพราะคำตอบที่ได้จากหมอก็เหมือนเดิม
ในบางคนที่มีอาการเจ็บป่วย การไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ ก็จะได้รับคำวินิจฉัยโรคแบบเดิม เช่น ไม่เป็นอะไรมาก กลับไปนอนพักผ่อนเดี๋ยวก็หาย เป็นต้น ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจกับคำวินิจฉัยของหมอ รู้สึกว่าตัวเองเสียเวลา เสียความรู้สึกเลยไม่อยากกลับไปหาหมออีก ในกรณีนี้อาจจะสร้างความมั่นใจด้วยการเลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคของคุณและเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการรักษาของคุณ แล้วลองฟังผลวินิจฉัยว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร จะได้ขอคำปรึกษาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ความคิดดังกล่าว จะคล้ายกับความคิดของผู้ป่วยที่เป็นโรค Hypochondriasis ซึ่งคือโรคคิดไปเองว่าป่วย อาการดังกล่าวเกิดขึ้นจาก “ความวิตกกังวล” ของคนไข้เอง เกิดจากอาการทางกายบางอย่างหรือหลายอย่าง ทำให้คนไข้เกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา ว่าตัวเองไม่สบาย โดยทั่วไปค่อนข้างรักษายาก เพราะเกิดจากความกังวลของคนไข้เอง ในกรณีนี้ควรจะได้รับยาลดความวิตกกังวล ปรับเปลี่ยนมุมมองหรือความคิดตนเองเกี่ยวกับอาการป่วยที่เรากังวล
3. คิดว่าตัวเองเป็นโรคอันตราย อาย อยากเก็บไว้เป็นความลับ กลัวคนรู้
ยกตัวอย่างในกรณีโรคซึมเศร้า โรค HIV ที่คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย กลัวคนรู้ เลยไม่กล้าไปพบแพทย์ การแก้ก็คงต้องเริ่มกับการต้องปรับทัศนคติของตัวเองเช่นเดียวกัน เพียงแค่เรารู้วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่น ๆ ได้
4. คิดว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ
โรคบางโรคมีค่าใช้จ่ายในการตรวจและการรักษา คนป่วยบางคนเลยจึงเลี่ยงไปโรงพยาบาลพบแพทย์ ก็เพราะไม่อยากเสียเงินไปกับการตรวจรักษา ในกรณีนี้เราควรตรวจสิทธิการรักษาเราเสียก่อนไปพบแพทย์ เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิบัตรทอง, สิทธิบัตรข้าราชการ เป็นต้น ควรศึกษาขั้นตอนการใช้สิทธิการรักษาของเราว่าเป็นอย่างไร ลำดับการรักษาต้องเริ่มต้นที่โรงพยาบาลใด แล้วจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลใด อาจจะมีค่าใช้จ่ายบ้างบางรายการแต่จะไม่สูงมาก
5. โรคกลัวหมอ (Iatrophobia)
โรคกลัวหมอ (Iatrophobia) ในที่นี้ หมายถึงอาการกลัวการไปพบหมอขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล มีความเครียดและความวิตกกังวล บางรายมีอาการวิตกกังวล ตัวสั่นไปจนถึงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาจจะมีสาเหตุมาจากวามทรงจำด้านลบเกี่ยวกับโรงพยาบาลหรือหมอ แล้วส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ กรณีนี้ควรต้องปรับทัศนคติกับตัวเองให้เห็นความสำคัญของสุขภาพตัวเอง
Reference:
- จินดารักษ์ สิริวิจักษณ์. (2563). ที่ไม่ชอบไปโรงพยาบาล เพราะฉันเป็นโรคกลัวหมอ. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3AEeNcM
- ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล. (2565). โรคซึมเศร้าโดยละเอียด. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3ACktDU
- รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี. (2560). โรคคิดไปเองว่าป่วย (Hypochondriasis) หาหมอเป็นสิบครั้งก็ไม่เชื่อคำวินิจฉัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3aqHy1V