เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงเดือนเมษายน – มีนาคม ของทุกปี อุณหภูมิก็จะสูงตามมาด้วย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าอากาศร้อนจัด จนไม่อยากจะทำกิจกรรมใด ๆ กลางแจ้ง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้อาชีพที่ต้องเผชิญกับความร้อนท่ามกลางแสงแดด ไม่ว่าจะเป็น อาชีพเกษตรกร อาชีพก่อสร้าง อาชีพอื่น ๆ ซึ่งการทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัดอาจส่งผลให้เกิดเป็นโรคลมแดด หรือเรียกว่า Heat Stroke ส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ทราบว่ากำลังเผชิญกับภาวะที่ก่อให้เกิดอาการ Heat stroke วิชาการ มีสาระเกี่ยวกับโรคนี้มาให้ทุกท่านได้อ่าน
โรคฮีทสโตรกคืออะไร
ฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาจจะทำให้เกิดอาการร้ายแรงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ประเภทของโรคลมร้อน แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
- โรคลมร้อนหรือโรคลมแดดทั่วไป (Classical or nonexertional heat stroke; NEHS) พบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งอยู่ในสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง กลไกการระบายและควบคุมความร้อนทำงานล้มเหลว ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนจึงมีอุณหภูมิแกนของร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส และในที่สุดเกิดเป็นโรคลมร้อนหรือโรคลมแดด
- โรคลมร้อนจากการออกกำลังกาย (Exertional heat stroke; EHS) พบในคนวัยหนุ่มสาวที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างหนักเป็นระยะเวลานานในกลางแจ้งหรือในสภาพอากาศร้อนจัด มีการเพิ่มการสร้างความร้อนของร่างกายมากกว่าที่ร่างกายจะสามารถระบายความร้อนได้ทัน ทำให้อุณหภูมิแกนของร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน มึนงงกล้ามเนื้อหดเกร็ง หายใจลำบาก เป็นต้น และมักพบว่าเป็นลม หมดสติ ก่อนที่จะเกิดภาวะโรคลมร้อน
7 สัญญาณเตือนของโรคฮีทสโตรก
- อาการหน้ามืด
- ตัวร้อนจัด หน้าแดง ผิวแห้งมาก หรือบางรายอาจเหงื่อออกมากผิดปกติ
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นตะคริว
- อัตราการเต้นของหัวใจสูง แต่เบา
- เกิดอาการทางประสาท เช่น สับสน กระวนกระวาย พูดไม่ชัด ชัก เกร็ง เป็นต้น
- หมดสติ
วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยเป็นโรคลมแดด (Heat Stroke)
- รีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มเย็น อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่โดนแสงแดดเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายของผู้ป่วย
- ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้ง 2 ข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดให้ผู้ป่วย
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อระบายความร้อนได้ไวขึ้น
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างเร็วที่สุด
- ถ้าผู้ป่วยไม่ได้หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ แบบค่อย ๆ จิบทีละน้อยแล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
- ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ไม่ตอบสนอง ไม่หายใจ ควรเริ่มทำการ PCR หรือปั๊มหัวใจโดยด่วน
วิธีการป้องกันโรคลมแดด (Heat Stroke)
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- สวมเสื้อผ้าสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี
- จิบน้ำบ่อย ๆ อย่างน้อย 6-8 แก้ว ต่อวัน ถึงแม้ไม่กระหายน้ำก็ตาม เพิ่มเติมความชุ่มชื่นและลดอุณหภูมิให้แก่ร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง
- ออกกำลังกายภายในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรเลือกช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ที่อากาศไม่ร้อนมาก
- เด็กและคนชราไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพังท่ามกลางแสงแดด
ฮีทสโตรกสำหรับผู้ที่หลีกเลี่ยงกิจกรรมในที่โล่งแจ้งที่มีอุณหภูมิสูงไม่ได้ ควรปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรคลมแดดง่าย ๆ โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ เมื่อมีสัญญาณตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรมองหาที่ร่มเย็น ที่อุณหภมิต่ำ ๆ เพื่อจะได้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต วิชาการ ห่วงใย หน้าร้อนห่างไกล โรคฮีทสโตรก
Reference:
- โรงพยาบาลพญาไท. 2564). ฮีทสโตรก โรคลมแดด ดูแลตัวเองให้ห่างไกล เมื่อต้องอยู่ในโซนร้อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3JMTOr3
- POPPAD. (2565). วิธีปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรก. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3lGwT8L
- ไทยพีบีเอส. (2565). อันตรายถึงชีวิตกับอาการฮีทสโตรก ที่มากับความร้อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3JKxb6v