Office Syndrome มีอาการอย่างไรบ้าง วิธีป้องกัน รักษาหายได้ไหม

          แม้ว่าเราจะมีการพูดถึง Office Syndrome บ่อยครั้ง แต่คนวัยทำงานส่วนใหญ่ต่างก็ยังประสบพบเจอโรคยอดฮิตนี้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานอย่างใด อย่างหนึ่งซ้ำ ๆ หรือท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดเป็นโรค Office Syndrome ขึ้น เช่น การใช้โต๊ะเก้าอี้ที่สูง หรือต่ำจนเกินไปไม่เหมาะกับโครงสร้างของร่างกาย, การนั่งใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน, การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป, การนั่งจดบันทึกเอกสารเป็นเวลานาน, การสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก เป็นต้น พฤติกรรมการทำงานเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดเป็นโรค Office Syndrome ซึ่งมีอาการ การป้องกัน และการรักษาดังจะกล่าวต่อไปนี้

อาการของโรค 

แบ่งลักษณะอาการปวดได้ 3 ลักษณะ

  1. การปวดกล้ามเนื้อ เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น หลัง, คอ, บ่า, ไหล่, สะบัก ปวดเป็นบริเวณกว้าง ระบุตำแหน่งไม่ชัดเจน
  2. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ มีอาการวูบ, เย็น, เหน็บ, ขนลุก, เหงื่อออกตามบริเวณที่ปวดร้าว, มึน, งง, หูอื้อ, ตาพร่า, ปวดศีรษะ
  3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ มีอาการชาบริเวณแขนและมือ รวมไปถึงอาการอ่อนแรงหากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป

การป้องกัน 

  1. การเคลื่อนไหวระหว่างการทำงาน
    การทำงานควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานเป็นช่วง ๆ ลุกยืดเส้นยืดสายหรือเดินไปสูดอากาศบริสุทธิ์เป็นระยะ ๆ
  2. ท่านั่งในการทำงาน
    ควรนั่งหลังตรง เพื่อลดอาการปวดหลัง, ป้องกันโรคข้อ, บรรเทาอาการปวดศีรษะ, ทำให้การไหลเวียนออกซิเจนดี
  3. ควรพักสายตาจากหน้าจอคอมระหว่างการทำงาน
    ไม่ควรใช้สายตาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ควรมีการพักสายตาทุก 1 ชั่วโมง ถ้าจ้องนานเกินไปจะทำให้ปวดตาและศีรษะ
  4. จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน
    สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ควรแออัดเกินไป โต๊ะเก้าอี้ที่เหมาะสมกับโครงสร้างร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน แสงสว่างเพียงพอ และแสงไม่จ้าจนเกินไปเพื่อเป็นการถนอมสายตา
  5. ออกกำลังกาย
    การออกกำลังกายจะเป็นการสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ และลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อป้องกันเอ็นข้อยืด คลายเครียดและสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

การรักษาโรค 

  1. การยืดกล้ามเนื้อ
    การยืดกล้ามเนื้อ จะช่วยให้เอ็นข้อต่อและเส้นใยกล้ามเนื้อยืดเหยียด มีความยาวและมุมการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ
  2. การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์
    การทำกายภาพบำบัด จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งจะกำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป
  3. การนวดแผนไทย
    เป็นการรักษาอาการปวดขั้นแรก เป็นวิธีทางธรรมชาติ ปวดตรงไหนก็บีบนวดตรงนั้น ทำให้เกิดการผ่อนคลายและลดอาการปวดหรือตึงได้
  4. การฝังเข็ม
    การฝังเข็ม เป็นการยับยั้งความเจ็บปวด ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทให้ออกฤทธิ์ เพื่อระงับอาการปวด ทำให้สามารถดำรงชีวิตหรือปฏิบัติงานต่อไปได้
  5. การรับประทานยา
    สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ต้องรับประทานยาในการรักษาจากแพทย์ผู้รักษา และจะต้องติดตามการรักษาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น อาการปวดศีรษะรุนแรง


          โรค Office Syndrome จะหายขาดได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค Office Syndrome แต่ถ้าเป็นแล้วก็สามารถรักษาตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ตามอาการของแต่ละบุคคล ถ้ามีอาการของโรคควรรีบรักษาก่อนที่อาการหนัก ถ้ารักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานได้รวดเร็วก็สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนปลอดโรค Office Syndrome นะคะ

 


Reference:

  • โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์.  (2564).  ออฟฟิศซินโดรม ดูแลป้องกันอย่างไร?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3d9ZVcV
  • โรงพยาบาลนครธน.  (2565).  8 วิธีรักษา “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) โรคยอดฮิตของวัยทำงาน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3daMBVD
  • ศิครินทร์.  (2563).  อาการแบบนี้ “ออฟฟิศซินโดรม” หรือเปล่า?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3QKY9wj


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general