แม้ว่าเราจะมีการพูดถึง “ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” บ่อยครั้ง แต่คนวัยทำงานส่วนใหญ่ต่างก็ยังประสบพบเจอโรคยอดฮิตนี้อยู่เสมอ ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่เรามักจะเจอ เช่น อาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือปวดร้าวศีรษะ ซึ่งสาเหตุก็มาจากการทำงานเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงการนั่งและท่านั่งที่นั่งนานเกินไป หรือแม้แต่อุปกรณ์ทำงานที่ไม่เหมาะสม การสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก เป็นต้น บทความนี้ วิชาการ จึงนำสาระดี ๆ ของออฟฟิศซินโดรมมาฝาก มีรายละเอียดอะไรบ้าง ไปดูได้เลย
อาการของโรค “ออฟฟิศซินโดรม”
แบ่งลักษณะอาการปวดได้ 3 ลักษณะ ได้แก่
- การปวดกล้ามเนื้อ เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น หลัง, คอ, บ่า, ไหล่, สะบัก ฯลฯ ปวดเป็นบริเวณกว้าง ระบุตำแหน่งไม่ชัดเจน
- อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ มีอาการวูบ, เย็น, เหน็บ, ขนลุก, เหงื่อออกตามบริเวณที่ปวดร้าว, มึน, งง, หูอื้อ, ตาพร่า, ปวดศีรษะ
- อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ มีอาการชาบริเวณแขนและมือ รวมไปถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป
อาการปวดที่พบบ่อยของ “ออฟฟิศซินโดรม”
- ปวดกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง บริเวณคอ บ่า ไหล่ หลัง และสะโพก
- ปวดและชาที่มือ แขน จากเอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาทและความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท
- ปวดแขน ปวดข้อมือ ข้อศอกจากกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ
- ปวดนิ้ว นิ้วล็อค
- หลังยึดติดในท่าแอ่น
“ออฟฟิศซินโดรม” มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง ?
-
ไม่ควรนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ
หากเริ่มรู้สึกปวดเมื่อย ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง อย่างการลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป ซึ่งการยืดกล้ามเนื้อ จะช่วยให้เอ็นข้อต่อและเส้นใยกล้ามเนื้อยืดเหยียด มีความยาวและมุมการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ -
นั่งทำงานในท่าที่ถูกต้อง
ไม่ควรนั่งหลังค่อมหรือนั่งเอนหลัง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อยึดตึง ปวด และเสียบุคลิกได้ ควรจะนั่งหลังตรง ซึ่งไม่เพียงช่วยลดอาการปวดหลัง แต่ยังทำให้สุขภาพหมอนรองกระดูกดีขึ้น ป้องกันโรคข้อ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ทำให้การไหลเวียนของออกซิเจนดี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้อีกด้วย -
พักสายตา
กล้ามเนื้อร่างกายยังต้องการพักผ่อน สายตาเองก็เช่นกัน จึงไม่ควรเพ่งจอคอมนานหรือใกล้จนเกินไป ควรพักสายตาทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพราะหากเราเพ่งสายตากับจอคอมนานเกินไป อาจส่งผลทำให้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อตาและปวดศีรษะได้ -
ปรับสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้น่าอยู่
บรรยากาศในห้องทำงานไม่ควรแออัด มีอากาศถ่ายเทที่ดี โต๊ะกับเก้าอี้ต้องเหมาะสมกับสรีระ และมีแสงไฟในห้องที่ความเหมาะสม ไม่ควรแสงจ้าเกินไปหรือสลัวเกินไป จะช่วยถนอมสายตาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงส่องเข้ามาในห้องมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึกไม่สบายตาได้ -
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ตึงเกินไป มีความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อมากขึ้น เช่น โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแล้ว ยังป้องกันเอ็นและข้อยึด ช่วยผ่อนคลายความเครียด และสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้อีกด้วย -
การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์
การทำกายภาพบำบัด จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งจะกำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป -
การนวดแผนไทย
เป็นการรักษาอาการปวดขั้นแรก เป็นวิธีทางธรรมชาติ ปวดตรงไหนก็บีบนวดตรงนั้น ทำให้เกิดการผ่อนคลายและลดอาการปวดหรือตึงได้ -
การฝังเข็ม
การฝังเข็ม เป็นการยับยั้งความเจ็บปวด ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทให้ออกฤทธิ์ เพื่อระงับอาการปวด ทำให้สามารถดำรงชีวิตหรือปฏิบัติงานต่อไปได้ -
รักษาด้วยการใช้ยา
สำหรับคนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมที่เริ่มรุนแรงขึ้นแล้ว อาจต้องได้รับยาในการรักษา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด ฯลฯ โดยยาเหล่านี้ควรผ่านการพิจารณาและสั่งโดยแพทย์ผู้วินิจฉัยเท่านั้น และสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ต้องรับประทานยาในการรักษาจากแพทย์ผู้รักษา และจะต้องติดตามการรักษาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ -
รักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เป็นการรักษาด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น อัลตราซาวด์ เครื่องดึงคอ หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบตะวันตก รวมทั้งการสอนท่าบริหาร เพื่อการป้องกันและรักษา ซึ่งในเคสที่เป็นมานานเรื้อรังยังมีการสอนหายใจ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย -
รักษาด้วย Shock Wave
คลื่นกระแทก (Shock Wave) เป็นเครื่องมือ ในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดระยะเรื้อรังที่ผ่านการรักษามาแล้ว แต่ไม่ดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการปวดข้อศอก เอ็นข้อศอกอักเสบ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดสะโพกร้าวลงขา ปวดฝ่าเท้าเรื้อรัง โรครองช้ำ ปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดเข่า บาดเจ็บจากกีฬา เป็นต้น
แม้ว่าเราจะรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมได้ แต่ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากเรายังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ จนบางครั้งนำไปสู่โรคร้ายแรงได้ เช่น ไมเกรน ฯลฯ ดังนั้น หากมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า ไหล ไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาทางป้องกันแต่เนิ่น ๆ และควรมีการปรับเปลี่ยนอิริยบถ อย่างน้อยทุก 30 นาที เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม
Reference:
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. (2564). ออฟฟิศซินโดรม ดูแลป้องกันอย่างไร?. สืบค้นเมื่อวันที่ 07 กรกฎาคม 2566, จาก https://bit.ly/3d9ZVcV
- โรงพยาบาลนครธน. (2565). 8 วิธีรักษา “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) โรคยอดฮิตของวัยทำงาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 07 กรกฎาคม 256, จาก https://bit.ly/3daMBVD
- ศิครินทร์. (2563). อาการแบบนี้ออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า?. สืบค้นเมื่อวันที่ 07 กรกฎาคม 2566, จาก https://bit.ly/3QKY9wj