กลิ่นตัวเกิดจากอะไร ควรแก้ยังไง บ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง

          บ่อยครั้งที่เราจะพบเจอปัญหาเรื่องกลิ่นจากผู้คนรอบข้างหรือผู้คนที่สัญจรไปมารอบ ๆ ตัว เราอาจรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ รังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ ส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวันของเรา จึงจะเห็นว่าปัญหาเรื่องกลิ่นนี้เป็นปัญหาด้านสุขภาพและด้านบุคลิกภาพที่สำคัญ
          แต่ในหลายท่าน กลับเป็นตัวเองที่เป็นผู้ประสบปัญหานี้ และยังไม่สามารถจัดการได้เสียเอง ในที่นี้จึงได้นำเสนอวิธีการจัดการปัญหากลิ่นหลักที่เจอกันบ่อย ๆ เราเอาอยู่แน่นอน ไปดูกันเลย

กลิ่นปาก

สาเหตุ

  • ภายในช่องปาก : เกิดจากแผลในช่องปาก, เหงือกอักเสบ, แผลร้อนใน, ฟันผุ, ผู้ที่ใส่ฟันปลอม/จัดฟัน, ลิ้นไม่สะอาด, น้ำลายบูด, ดื่มน้ำน้อย
  • ภายนอกช่องปาก : การทานอาหารกลิ่นแรง, ดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, กลิ่นต่าง ๆ นี้สามารถตกค้างในช่องปาก
  • โรคในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง เช่น ทอนซิลอักเสบ, มะเร็งช่องปาก, โรคปอด เป็นต้น

การดูแลรักษา

  • ทำความสะอาดช่องปาก ลิ้น อย่างถูกวิธี
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีกลิ่นแรง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ใช้น้ำยากำจัดกลิ่น ลดเชื้อแบคทีเรีย
  • พบทันตแพทย์ เพื่อรับการรักษาตรวจสุขภาพช่องปาก


กลิ่นตัว

สาเหตุ

  • เหงื่อ ที่ถูกสร้างจากต่อมเอกไครน์ (Eccrine Gland) ที่อยู่บริเวณผิวหนัง เมื่อสัมผัสกับแบคทีเรียจะทำให้เกิดกลิ่นขึ้น
  • สารที่หลั่งจากต่อมกลิ่น (Apocrine Gland) ประกอบด้วยกรดไขมัน เช่น Sulfanyl Alkanols และ Steroid ที่อยู่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ มีลักษณะเหลวข้น หากสัมผัสถูกเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacteria Spp.) จะเกิดกลิ่นแอมโมเนีย
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะร่างกายหลั่งเหงื่อมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) น้ำหนักมาก
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ทานอาหารที่มีกลิ่นแรง/รสเผ็ด ดื่มแอลกอฮอล์

การดูแลรักษา

  • อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เน้นที่รักแร้ ขาหนีบ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้สารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) เช่น อลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) ซึ่งจะไปอุดท่อต่อมเหงื่อ โดยทารักแร้ก่อนนอน และล้างออกในตอนเช้า
  • ใช้ยาดับกลิ่นตัว (Deodorant) มีส่วนประกอบเช่น สารลดเหงื่อ สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และน้ำหอม จะช่วยกำจัด/ลดกลิ่นตัวลงได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด รวมถึงเลือกเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ ระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด อาหารกลิ่นแรง


กลิ่นเท้า

สาเหตุ

  • เหงื่อ ที่ถูกสร้างจากต่อมเอกไครน์ (Eccrine Gland) ที่อยู่บนผิวหนัง เมื่อสัมผัสกับแบคทีเรียบนผิวหนังจะทำให้เกิดกลิ่นขึ้น ในบางรายที่มีความรุนแรงมากจะพบเปื่อยยุ่ยหรือเป็นหลุมบริเวณฝ่าเท้า
  • โรคเท้าเหม็น พบบ่อยในผู้ที่เดินเท้าเปล่าย่ำน้ำในหน้าฝน เมื่อผิวหนังชั้นนอกสุดเปียกชื้น/เกิดการติดเชื้อ ก็เกิดกลิ่นขึ้นมาได้
  • โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s Foot) ที่เกิดจากการติดเชื้อรา ทำให้เกิดอาการคัน เท้าลอก และส่งกลิ่นจากความอับชื้น

การดูแลรักษา

  • ดูแลสุขภาพเท้า, ตัดเล็บให้สั้น, ทำความสะอาดฝ่าเท้า นิ้วเท้า เป็นประจำด้วยสบู่ โดยจะใช้สบู่ฟอกเท้า ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาที ก่อนล้างออก สามารถลดกลิ่นเท้าได้
  • หมั่นเปลี่ยนรองเท้าบ่อย ๆ
  • ทำความสะอาดรองเท้า นำรองเท้าผึ่งแดด ผึ่งลม รวมถึงการใช้สารดูดกลิ่นใส่ในรองเท้า สเปรย์ฉีดรองเท้า เพื่อระงับกลิ่น
  • ใส่ถุงเท้าที่ทำวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี อาจจะต้องโรยแป้งหรือใช้สเปรย์ระงับกลิ่นฉีด/ทาที่บริเวณเท้าก่อนใส่ถุงเท้า เพื่อลดความอับชื้น
  • ยาที่ลดความอับชื้น เช่น 20%Aluminium Chloride เป็นผงแป้ง โรยไปที่เท้าวันละ 1-2 ครั้ง หรือทายาที่ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Clindamycin, Erythromycin เป็นต้น
  • ฉีด Botulinum Toxin ที่ฝ่าเท้า เพื่อให้ลดการสร้างเหงื่อ


          และหากพบว่าปัญหานี้ยังคงอยู่แม้จะปฏิบัติตามขั้นตอนที่เราแนะนำแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพราะบางสาเหตุของกลิ่นปากอาจเกิดจาก โรคทางพันธุกรรมชื่อ Trimethylaminuria ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อไป

 


Reference:

  • ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ.  (2560).  กลิ่นตัว.  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3zNUoBm
  • ผศ.นพ.สุมนัส บุญยะรัตเวช.  (2560).  ทำอย่างไรเมื่อเท้าเหม็น.  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3b5qDSl
  • พบแพทย์.  (2565).  กลิ่นตัวคืออะไรและจัดการได้อย่างไร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3N5kbba
  • โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์.  (2562).  กลิ่นปากไม่ใช่เรื่องตลก (Bad breath).  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3HQ3fot


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general