ความเจ็บปวดฉบับผู้หญิง ที่ผู้หญิงต้องรู้!

          ผู้หญิงมักได้ชื่อว่าเป็นเพศที่อ่อนโยน อ่อนน้อม อ่อนหวาน…แต่ไม่ อ่อนแอ แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้ความสวยงามอันอ่อนหวานนั้น ถูกซ่อนไว้ด้วยความเจ็บปวดที่ผู้หญิงเท่านั้นจะเข้าใจ และแน่นอนว่าสิ่งที่เราจะกล่าวถึงนั้น คือ อาการปวดประจำเดือนนั่นเอง การมีประจำเดือนบ่งบอกว่า เราเป็นสาวเต็มตัวแล้ว เมื่อเข้าสู่วัยสาวเต็มตัวแล้ว ผู้หญิงอย่างเราคงหนีไม่พ้น ปัญหาการปวดประจำเดือนที่ต้องเจอทุก ๆ เดือน จากการศึกษาทั่วไปพบว่า ผู้หญิง 3 ใน 4 ราย มักมีอาการปวดท้อง ขณะมีประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะปวดไม่มาก และสามารถทำงานได้ตามปกติ ขณะที่ส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาจปวดรุนแรงจนต้องพักงาน หรือต้องไปพบแพทย์ เพื่อขอยาแก้ปวด เรามาดูกันว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาอาการปวดนี้ เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง

อาการปวดประจำเดือน

          อาการปวดประจำเดือน มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และมีการหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ออกมามากผิดปกติ ซึ่งสารนี้ทำหน้าที่ช่วยปิดรูหลอดเลือดที่รั่ว จึงทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัว (มักพบในผู้หญิงที่อายุน้อย) และจะมีอาการปวดท้องน้อยแบบรุนแรง ในระยะแรกที่ประจำเดือนมา อาจมีอาการปวดศีรษะ, คลื่นไส้, ท้องเดิน, เหงื่อออก หรืออาจจะมีอาการมือเท้าเย็นร่วมด้วย บางรายอาจปวดมากจนไม่สบายหรือเป็นลม แต่อาการปวดนี้จะหายไปเองภายใน 1 – 2 วัน
          ส่วนอาการปวดอย่างรุนแรง อาจเกิดจากโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ มีถุงน้ำที่รังไข่, มีอาการอักเสบในอุ้งเชิงกราน, มีเนื้องอก, ไฟบรอยด์ หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิด ซึ่งในกรณีหลังถ้าเคยตั้งครรภ์มาแล้ว ปากมดลูกจะหลวม อาการปวดมดลูกจะหายไป ถึงแม้หลายคนจะไม่หวั่นแม้วันมามาก เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของลูกผู้หญิง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย อาจทำให้เราหมดสนุกจนต้องหยุดพักกิจกรรมระหว่างวัน

วิธีกำจัดอาการปวดประจำเดือนให้หายขาด

  1. ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
    แม้ว่าอาการปวดประจำเดือนจะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่ง มาจากการใช้ชีวิต และการทานอาหารของเรานั่นเอง วิธีแรกคือ เลือกทานอาหารธรรมชาติที่มีกากใยสูง เช่น ผัก, ผลไม้สด เพื่อป้องกันอาการท้องผูกระหว่างมีประจำเดือน นอกจากนี้อาการปวดประจำเดือน อาจมีสาเหตุมาจากความเครียด ซึ่งสามารถดูแลตัวเองด้วยการฝึก สมาธิ, เล่นโยคะ และฝึกเทคนิคในการผ่อนคลายอื่น ๆ
  2. ปรับสมดุลด้วยวิตามิน
    การทานวิตามินเสริมเป็นประจำ ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายเตรียมพร้อมรับมือกับอาการปวดประจำเดือนได้อย่างดี โดยทานวิตามินกลุ่มแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ได้แก่ วิตามินเอ, ซี, อี ร่วมกับวิตามินบี 2 ปริมาณ 200 มิลลิกรัม, วิตามินบี 6 ปริมาณ 100 มิลลิกรัม, กรดโฟลิกปริมาณ 0.4 มิลลิกรัม และธาตุเหล็กปริมาณ 30 มิลลิกรัม
  3. สมุนไพรไทยแก้อาการปวด
    หากอาการปวดยังไม่ทุเลา ก็ลองหันมาใช้สมุนไพรไทยใกล้ตัวของเราได้นะ เช่น
  • แก่นขี้เหล็กและแก่นฝางเสน นำแก่นขี้เหล็กและแก่นฝางเสน อย่างละ 75 กรัม ใส่หม้อ เติมน้ำให้พอท่วม น้ำ 3 ส่วน ต้มเหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • หัวหอม ใช้หัวหอมสด 15 ถึง 30 กรัม ต้มกับน้ำตาลพอประมาณ รอให้หายร้อน แล้วดื่มเป็นยา
  • ลูกยอบ้าน เช่น การนำลูกยอบ้านอายุแก่พอดีมาใส่ในส้มตำ โดยรับประทานสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้

อาการปวดประจำเดือนที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • หากเรายังคงมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง, ผิดปกติ หรือมีเลือดออกมาก จนต้องหยุดทำกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ
  • ตรวจบริเวณท้องน้อยข้างขวาร่วมด้วย เพราะอาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ ได้

 

 

References:

  • โกมุท ภัทรเมธี.  (2537).  คู่มือตรวจโรคด้วยตนเองเบื้องต้น.  กรุงเทพฯ: อินทรีย์
  • ศรีสุภา ส่งแสงขจร.  (2552).  รักษาก่อนหาหมอ.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์สุขภาพ
  • กัญศจี วงศาวัฒนากุล.  (2553).  รู้ไว้…ไกลโรค.  ปทุมธานี: เวิร์คพอยท์


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general