รักษาด้วยยาสมุนไพร กับยาแผนปัจจุบันต่างกันอย่างไร

          ในปัจจุบันนี้ เมื่อเรามีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น นั่นก็คือการซื้อยามารับประทานเอง โดยที่เราก็ไม่รู้เลยว่าอย่าเชื่อเราซื้อมารับประทานเองนั้นมีผลดีผลร้ายและมีผลต่อการรักษาอาการเจ็บปวดของตัวเองมากน้อยแค่ไหน เพียงแค่บางครั้ง ยาชนิดนั้นหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาและสะดวกสบายนั่นเอง ซึ่งยาที่ขายตามร้านขายยาส่วนใหญ่จะเป็นยาแผนปัจจุบัน แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมรักษาด้วยยาสมุนไพร เพราะคิดว่าการรักษาด้วยสมุนไพรนั้นมีความปลอดภัย ราคาไม่แพงและสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ดีกว่า บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน การรักษาอาการเจ็บเบื้องต้นนั้นเราควรที่จะเลือกใช้แบบไหนดี และการเลือกใช้ยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันต่างกันอย่างไร

  • ยาแผนปัจจุบัน  หมายถึง ยาที่มุ่งหมายสําหรับใช้ใน การประกอบวิชาชีพเวชกรรม การประกอบโรคศิลปะ แผนปัจจุบันหรือการบําบัดโรคสัตว์
      • การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน คือ การประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความรู้อันได้ศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์
  • ยาแผนโบราณ หมายถึง ยาที่มุ่งหมายสําหรับใช้ใน การประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ หรือการบําบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตําราแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณหรือยาที่ ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตํารับยาเป็นแผนโบราณ
      • การประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ คือ การประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความรู้จากตํารา หรือการเรียนสืบต่อกันมา อันมิใช่การศึกษาตามหลักวิทยาสตร์


ข้อแตกต่างระหว่างยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน

ยาสมุนไพร

  1. ยาสมุนไพรหนึ่งตัว รักษาได้หลายอาการ เริ่มจากการต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้น ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในแบบแผนไทยหรือแผนจีน
  2. ยาสมุนไพร ไม่ค่อยมีความจำเป็นเฉพาะต่อโรค แต่ปลอดภัยกว่ายาจากสารเคมี
  3. ยาสมุนไพรสามารถทำงานเข้ากันกับร่างกายได้ดีมากกว่า ทำให้อวัยวะหรือสรีระในร่างกายปรับตัวได้ง่ายกว่ายาแผนปัจจุบัน

ยาแผนปัจจุบัน

  1. ในยาแผนปัจจุบันมักทำมาจากสารเคมี ซึ่งออกฤทธิ์แบบที่มีความจำเพาะสูง ทำให้ของฤทธิ์ยาก็มีความจำเพาะที่ รักษาได้เฉพาะจุดมากขึ้น
  2. ยาแผนปัจจุบันเป็นสารเคมีจึงไม่ค่อยมีการปรับตัวเข้ากับร่างกาย
  3. คนไข้ที่ใช้ยาแผนปัจจุบันอาจได้รับผลข้างเคียงของยา
  4. สารเคมีจากยาทำให้ร่างกายเสียสมดุล เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้อวัยวะบางส่วนหยุดการทำงาน และเมื่อใช้ยาไปสักพัก ร่างกายจะไม่สามารถหยุดยาได้ จะต้องได้ยาไปเรื่อย ๆ


การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร สามารถอธิบายได้ 2 รูปแบบ คือ

  1. ปฏิกิริยาทางเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic Interactions) โดยยาหรือสมุนไพรมีผลเปลี่ยนแปลงการดูดซึม, การกระจายตัว, เมแทบอลิซึม (Metabolism) และการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย ซึ่งทำให้ปริมาณของยาหรือสมุนไพรที่ออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง
  2. ปฏิกิริยาทางเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamic Interactions) โดยยาหรือสมุนไพรมีผลเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาที่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะเป้าหมาย ทำให้ยาหรือสมุนไพรแสดงฤทธิ์เพิ่มขึ้น (Synergistic Effects) หรือลดลง (Antagonist Effects)


          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายาแผนปัจจุบันจะเข้าถึงได้ง่าย หรือบางร้านขายยาจะมีเภสัชคอยให้คำแนะนำแต่หากใช้ยาเกินความจำเป็น ก็อาจจะเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ หรือในกรณีที่ใช้ยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อ หรือไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ถูกต้อง อาจเกิดเชื้อดื้อยาในอนาคตได้ เช่นเดียวกับสมุนไพร ถึงแม้ยาจะมีการปรับตัวให้เข้ากับร่างกายได้ดี และมีอันตรายน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน แต่หากมีการใช้เกินปริมาณที่ควรจะได้รับ และไม่ได้รับคำแนะนำของการใช้ยาที่ถูกต้อง ก็อาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น หากกินฟ้าทะลายโจรเกินปริมาณที่กำหนดอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้ ดังนั้น การใช้ยาทุกกรณีจะมีข้อควรระวังให้เราได้ตระหนักรู้ถึงโทษของยาทั้งสองแบบ เพราะฉะนั้นควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง จะได้ไม่เจ็บป่วยและลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นได้

 


References:

  • pharmacy.mahidol.  (2557).  สมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน..กินด้วยกันดีมั้ย?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3ytNi3Z
  • mgronline.  (2559).  ยาสมุนไพร VS ยาแผนปัจจุบัน คุณจะเลือกอะไร ?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3u7mowg
  • กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก.  (2561).  รายการยาสมุนไพรที่สามรถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน จำนวน 31 รายการ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3bCWvOl
  • วราวุธ เสริมสินสิริ.  (2565).  ความรู้กฎหมาย เกี่ยวกับการขายยา ตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3HYBmul



วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general