สุขภาพดีได้ ถ้ารู้วิธีเลือกอาหาร

          การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้แข็งแรงได้ไม่แพ้กับการออกกำลังกาย แต่น้อยคนนักจะรู้จักวิธีเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนนั้น มีการตอบสนองต่อสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าการรับประทานอาหารจะทำให้สุขภาพแข็งแรงก็จริง แต่เราก็อย่าลืมว่าการออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพใจของเรามีความสมดุล เราต้องทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน จึงจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นตามไปด้วย
          แม้ว่าคุณภาพชีวิตของเราจะดีขึ้น แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ บางครั้งการเจ็บป่วยเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรา ในบทความนี้จะกล่าวถึง การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับอาการเจ็บป่วยที่เราอาจจะต้องพบเจอกันได้บ่อย ๆ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราได้เช่นกัน เรามาดูกันว่าอาหารที่เหมาะกับอาการเจ็บป่วยเหล่านั้น มีอะไรบ้าง

  1. อาหารกับอาการไมเกรน
              ไมเกรน โรคยอดฮิตติดเทรนด์ เพราะถ้าพูดถึงโรคนี้แล้ว แน่นอนว่าต้องนึกถึงอาการปวดศีรษะขึ้นมาทันที จากการวิจัยพบว่าแคลเซียมและแมกนีเซียม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบประสาทและหลอดเลือด ซึ่งมีผลต่ออาการปวดศีรษะ ส่วนวิตามินบี 2 นั้น สามารถซ่อมแซมและสร้างเซลล์ของหลอดเลือดได้ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน ได้แก่ สารปรุงแต่งรสชาติในอาหารต่าง ๆ เช่น สารให้ความหวาน, สารโมโนโซเดียมกลูตาเมตในผงชูรส, สารไนเตรทซึ่งพบมากในไส้กรอก รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็ล้วนแต่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้
  2. อาหารกับอาการนอนไม่หลับ
              โรคนอนไม่หลับ ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคนเราไม่น้อย ใครที่มีปัญหานี้อยู่แนะนำให้ลองดื่มชาคาโมมายล์ ซึ่งคาโมมายล์ เป็นธัญพืชที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงแบบอ่อน ๆ และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย โดยนิยมนำมาชงดื่มก่อนนอน ผู้ที่นอนหลับยาก เมื่อดื่มชาคาโมมายล์จะรู้สึกง่วง และนอนหลับได้ง่ายขึ้น, หลับลึกขึ้น และหลับสนิทตลอดคืน ไม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก สำหรับการนอนครั้งต่อไป อย่าลืมลองหันมาดื่มชาคาโมมายล์กันหล่ะ รับรองว่าหลับสบายตลอดคืนแน่นอน
  3. อาหารที่ช่วยฟื้นฟูระบบย่อยอาหาร
              ระบบย่อยอาหาร เป็นระบบที่ทำงานอย่างหนักแทบตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังต้องย่อยสารพิษต่าง ๆ ที่ปะปนอยู่ในอาหารที่ทานเข้าไปอีกด้วย ซึ่งวิธีการที่จะช่วยฟื้นฟูระบบย่อยอาหาร จึงควรทานอาหารอย่างช้า ๆ ไม่รีบร้อน ส่วนอาหารที่ทานเข้าไป ควรทานอาหารที่มีเอนไซม์ เพื่อช่วยเพิ่มการย่อย ไม่ควรทานอาหารที่ย่อยยาก อีกทั้งไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไประหว่างมื้ออาหาร เพราะจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะมีประสิทธิภาพในการย่อยลดลง และควรกทานอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งให้น้อยที่สุดด้วย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีเป็นปกติแล้ว
  4. อาหารป้องกันอาการเมาค้าง
              นักดื่มทั้งหลายคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาการเมาค้างทรมานแค่ไหน ดังนั้น วิธีง่าย ๆ อีกวิธีหนึ่ง คือ ควรดื่มน้ำสลับกับเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ แบบแก้วต่อแก้ว เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ เราจึงเข้าห้องน้ำบ่อย เมื่อน้ำในร่างกายลดลง เราจึงมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ ดังนั้นควรเพิ่มปริมาณน้ำในร่างกายด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ นั่นเอง และหากเป็นไปได้ก็ควรทานวิตามินบีรวมที่มีวิตามินบี 6 เป็นส่วนผสมก่อนการดื่ม เพราะวิธีนี้จะช่วยกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือดได้เร็วขึ้น จึงทำให้คุณฟื้นตัวและไม่มีอาการเมาค้างหลังจบปาร์ตี้ หรือในตอนเช้า แนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้สัก 1-2 แก้ว จะช่วยสร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และช่วยทำให้สร่างเมาได้เช่นกัน

 

 

 

Reference:
– สัณห์ ศัลยศิริ.  (2548).  สารอาหารดี ๆ อยู่ 120 ปี ไม่มีโรค.  นนทบุรี: ชบา พับลิชชิ่ง เวิร์ก
– โสภาพรรณ.  (2554).  กินดี ให้มีชัยชนะ.  กรุงเทพฯ: แสงดาว
– สันต์ ใจยอดศิลย์.  (2553).  5 วิธี สู่วิถีชีวิตไม่ป่วย.  กรุงเทพ: อมรินทร์สุขภาพ

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general