ปัจจุบันข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ มากมาย มีการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง การพยายามฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มสูงขึ้น บางรายอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว บางรายก็ตั้งใจ หนึ่งในสาเหตุที่กล่าวถึงกันอย่างมากก็คือ “โรคซึมเศร้า” วิชาการ มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น
โรคซึมเศร้าคืออะไร
เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสีย ซึ่งอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอยู่นาน โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรงขึ้น มีอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น หลับ ๆ ตื่น ๆ, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลดลงมาก, หมดความสนใจต่อโลกภายนอก, ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป นอกจากมีอาการซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการทำกิจวัตรต่าง ๆ ก็แย่ลงด้วย
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
- กรรมพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องสูงกับโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
- สารเคมีในสมอง มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองและมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อประสาท
- ลักษณะนิสัยบางประการ มองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย
ปัจจัยเสี่ยงโรคซึมเศร้า
- ลักษณะนิสัยบางประการ เช่น มองโลกในแง่ร้าย, การตำหนิตนเอง, การพึ่งพาคนอื่นมากเกินไป เป็นต้น
- ผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย, ถูกทารุณกรรมทางเพศ, สูญเสียคนในครอบครัว, มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ เป็นต้น
- คนในครอบครัวมีประวัติติดสุราเรื้อรัง ฆ่าตัวตาย เป็นโรคซึมเศร้า
- มีประวัติความเจ็บป่วยทางจิตเวช
- ภาวะติดสุราเรื้อรัง
- โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง
- การใช้ยา เช่น ยานอนหลับ, ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น
ลักษณะอาการที่เปลี่ยนแปลงจากปกติ
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กน้อยอ่อนไหวไปหมด
- ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรรู้สึกแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดล้มเหลว
- สมาธิความจำแย่ลง หลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ ๆ
- มีอาการทางร่างกายต่าง ๆ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร
- ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ไม่ร่าเริงแจ่มใส เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร
- การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่องานลดลง ทำลวก ๆ เพียงให้ผ่านไป
- อาการโรคจิต อาการหลงผิดหรือประสาทหลอน มีความคิดพยายามฆ่าตัวตาย
เกณฑ์การวินิจฉัยโรค
มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า
- อารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน
- ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มมากขึ้น มีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
*ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
*ต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่ หรือถ้ายังไม่แน่ใจว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ สามารถทำแบบทดสอบได้ตามลิงก์นี้ได้เลย https://bit.ly/3kxnGih
การรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาหลักของโรคซึมเศร้าคือการพูดคุยให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด และการใช้ยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
- ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้น
- อย่าตั้งเป้าหมาย ในการทำงาน และการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป
- เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราชอบ
- อย่าตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อชีวิต เช่น การหย่า, การลาออกจากงาน เป็นต้น
- การมองปัญหา โดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร
สำหรับท่านใดที่สังเกตตัวเองหรือสงสัยว่าตัวเองกำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้าอยู่หรือไม่ บทความนี้คงเป็นประโยชน์กับท่านที่อ่านบทความ เพื่อนำไปสู่กระบวนการรักษา หรือมีบุคคลใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคซึมเศร้า จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินแก้ ก่อนเกิดการสูญเสียที่ไม่อาจกลับไปแก้ไขได้ วิชาการ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ
Reference:
- คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2566). โรคซึมเศร้าโดยละเอียด. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565, https://bit.ly/3kAO2je
- Sanook. (2565). รู้จัก “โรคซึมเศร้า” มีอาการอย่างไร และวิธีการดูแล ฟื้นฟูจิตใจ. สืบค้นเมื่อันที่ 20 มกราคม 2565, จาก https://bit.ly/2zVPvGE
- MedPark Hospital. (2565). โรคซึมเศร้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565, จาก https://bit.ly/3J4jFvM