อยากเรียนต่างประเทศ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ให้มีความพร้อมก่อนไปเรียน

          น้อง ๆ คนไหนที่กำลังวางแผนเรียนต่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับ ป.ตรี, ป.โท หรือ ป.เอก คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องเงินทุนและเรื่องภาษาเป็นสองสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็อาจจะทำให้การไปเรียนยังต่างแดนเป็นเรื่องยาก การเตรียมความพร้อมทั้งสองด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ เรียกได้ว่าบางคนเตรียมตัวกันหลายปีเลยทีเดียว บทความนี้จึงอยากจะพาทุกคนมาเช็กความพร้อมทั้งด้านเงินทุน และภาษาก่อนบินลัดฟ้าไปเรียนยังต่างประเทศกัน

ความพร้อมด้านเงินทุน

  1. ทราบแหล่งที่มาขอเงินทุนค่าเล่าเรียน

    • หลังจากที่เราตัดสินใจและวางแผนที่จะเรียนต่อต่างประเทศแล้ว สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือแหล่งที่มาขอทุนทรัพย์เพื่อจ่ายค่าเทอม สำหรับใครที่ทางบ้านพอจะมีกำลังส่งเรียนต่อต่างประเทศ ทุน พ.ม. (พ่อแม่) คงเป็นตัวเลือกแรก ๆ แต่ถ้าใครงบน้อยหรือต้องการสอบชิงทุน ปัจจุบันมีทุนมากมายทั้งของทางภาครัฐหรือเอกชน บางมหาลัยก็ใจดีให้ทุนนักเรียนต่างชาติ มีทั้งทุนเต็มจำนวนและทุนบางส่วน ฉะนั้นต้องศึกษาให้ดีก่อนสมัคร นอกจากนี้ธนาคารหลายแห่งยังมีนโยบายการกู้ยืมเพื่อการศึกษา เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน และ ธนาคารทหารไทยธนชาต ทั้งนี้เราควรศึกษาเงื่อนไขการกู้ให้ดีว่า สถาบันที่เราจะไปเรียนสามารถยื่นกู้ได้หรือไม่ โดยการกู้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรืออาจจะขอให้คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้กู้ให้ก็ได้
  2. วางแผนค่าใช้จ่ายรายเดือน

    • ค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งที่เราต้องว่าแผนคือรายจ่ายในชีวิตประจำวันทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง, ค่าของใช้ส่วนตัว, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าเช่าหอ และอื่น ๆ ส่วนนี้เราสามารถ ใช้ Excel สรุปและประเมินค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นรายเดือน ซึ่งสามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือถามนักเรียนที่กำลังเรียนที่มหาลัยที่เรากำลังจะไปเรียน นอกจากนี้ การหาเงินระหว่างเรียนเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่นิยมในหมู่นักเรียนนอก เพื่อช่วยมีค่าครองชีพที่เพียงพอ เช่น ทำงานร้านอาหาร, พนักงานโรงแรม, เป็นติวเตอร์, ยูทูบเบอร์รีวิวชีวิตในต่างแดน หรือเขียน Blog
  3. มีเงินทุนสำรองยามฉุกเฉิน

    • แม้ว่าเราจะวางแผนอย่างรอบคอบเพียงใดแต่การเจ็บป่วย, เกิดอุบัติเหตุ หรือจำเป็นต้องซื้อของชิ้นใหญ่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นการมีเงินทุนสำรองสักก้อนจึงสำคัญมาก ๆ โดยปกติแล้วผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจะแนะนำให้ถือเงินสดสำรองเป็นจำนวน 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายประจำเดือนไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตธนาคารในไทย ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของแหล่งเงินยามฉุกเฉิน แต่ต้องศึกษาว่าบัตรไหนสามารถใช้ในต่างประเทศได้และค่าธรรมเนียมเท่าไร

การเตรียมความพร้อมด้านภาษา

  1. รู้เงื่อนไขด้านภาษา

    • มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งมักจะกำหนดเกณฑ์รับเข้านักศึกษาโดยใช้ผลการสอบด้านภาษา เช่น คะแนน IELTS หรือ TOEFL ซึ่งรวมไปถึงทุนการศึกษาแทบจะทุกแห่งก็มีเกณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน ฉะนั้นน้อง ๆ จำเป็นต้องรู้ข้อกำหนดเหล่าตั้งแต่เนิน ๆ เพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อม โดยหาข้อมูลจากเว็บไซต์ทุนเรียนต่อต่างประเทศที่มีอยู่หลายเว็ปไซต์ หรือไปงานออกบูทที่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาให้คำแนะนำการเรียนต่อ
  2. วิธีการเตรียมตัวและฝึกภาษา

    • สำหรับใครที่อ่อนด้านภาษาก็อย่าพึ่งท้อไป การให้เวลากับตัวเองเพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาเป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ พัฒนา ซึ่งมีคำแนะนำดังต่อไปนี้
      • การฝึกภาษาทั้งสี่ทักษะฟัง, พูด, อ่าน และเขียน อย่างสม่ำเสมอ
      • หมั่นอ่านข่าว, ดูหนัง หรืออ่านหนังสือของประเทศที่เราจะไปเรียน จะช่วยให้เราเข้าใจภาษาที่ใช้จริงในประเทศนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
      • ทำข้อสอบเก่าและลงคอร์สภาษาเรียนที่สอนเทคนิคเพื่อใช้ในการสอบด้านภาษา
      • หาเพื่อนชาวต่างชาติ เพื่อฝึกการสนทนาและเรียนรู้วัฒนธรรม เช่น เพื่อนชาวต่างชาติในโรงเรีย,น คุยกับครูต่างชาติ, หาเพื่อนผ่านแอปฝึกภาษา เช่น HelloTalk, Tamdem หรือ HiNative
      • ฝึกภาษาอังกฤษผ่านแอป หรือ เว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น BBCLearningEnglish, Duolingo และ Memrise

 


Reference:

  • Anuchana P.  (2565).  อยากเรียนต่อต่างประเทศ แต่ไม่มีเงิน ไม่เก่งภาษา ทำไงดี?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/3plAPtT
  • Interpass.  (2565).  6 เช็กลิสต์ เตรียมตัวเรียนต่อต่างประเทศ เพิ่มความพร้อม และความมั่นใจ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/3dxQFPv
  • Arisa JK.  (2561).  4 ขั้นตอนขอทุนเรียนต่อต่างประเทศ พร้อมสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่จะทำให้ชีวิตง่ายกว่าที่เคย.  สืบค้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/3C8pxRe

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general