เมื่อไม่นานมานี้เทศกาลการสมัครสอบ ก.พ. ภาค ก ก็ได้จบลงไป เชื่อว่าหลายคนคงกำลังขะมักเขม้นเตรียมตัวกับการสอบกัน ซึ่งในปีนี้ก็มีการสอบทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งแบบบนกระดาษ (Paper & Pencil) และการสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam) โดยการสอบแบบบนกระดาษนั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 พร้อมกันทุกศูนย์สอบทั้งประเทศ แต่สำหรับการสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์จะจัดขึ้นเป็นรอบ ๆ เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งก็ใกล้เข้ามาทุกที วันนี้ วิชาการ จึงขอพาทุกท่านมาดูวิธีการเตรียมตัวสอบ ก.พ. ให้ผ่านฉลุยกัน
เข้าเนื้อหาและวิชาที่จะสอบ
สิ่งแรกสุดที่จะช่วยให้เราเตรียมตัวสอบได้ถูกคือเราต้องเข้าใจว่าจะเจออะไรในการสอบ สำหรับข้อสอบ ก.พ. ปีนี้นั้นแบ่งออกเป็น 3 วิชาเช่นเคยคือ
วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์และภาษาไทย) มีทั้งหมด 50 ข้อ คิดเป็น 100 คะแนน มีทั้งหมด 2 ตอน คือ
- การคิดวิเคราะห์ด้านภาษา (วิชาภาษาไทย) เช่น หลักภาษาไทย, การใช้คำอุปมาอุปไมย, หรือการวิเคราะห์บทความ
- การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรมและเชิงปริมาณ (คณิตศาสตร์) เช่น อนุกรม, เซต, หรือวิเคราะห์กราฟ
- วิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ จำนวนข้อสอบ 25 ข้อ คิดเป็น 50 คะแนน โดยแบ่งเป็น 4 ตอน Grammar, Conversation, Vocabulary, Reading
- วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี มีจำนวน 25 ข้อ คิดเป็น 50 คะแนน เนื้อหาประกอบไปด้วย แนวทางการปฏิบัติตนให้เป็นราชการที่ดี, กฎหมาย, และแนวคิดเกี่ยวกับ ความประพฤติของข้าราชการ
ประเมินความรู้ความสามารถของตนเอง
เมื่อเรารู้แล้วว่าข้อสอบ ก.พ. มีเนื้อหาแบบไหน เรื่องถัดมาคือเราต้องประเมินตนเองว่า เราถนัดหรืออ่อนในเรื่อง เพื่อให้เราสามารถวางแผนการอ่านหนังสือเตรียมสอบได้อย่างถูกต้องและประหยัดเวลา วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ลองเอาข้อสอบเก่ามาทำ 1 ชุด แล้วจับเวลา เมื่อเสร็จแล้วลองตรวจคำตอบดูว่า เราทำได้มากน้อยเพียงใดในแต่ละวิชา
วางแผนการเตรียมตัวสอบ
เมื่อเรารู้ว่าเราเก่งเรื่องใดแล้วต้องเพิ่มเติมให้เรื่องไหน ขั้นต่อมาคือการวางแผนการอ่านหนังสือ การวางแผนเตรียมสอบที่ดีต้องเป็นแผนที่ทำได้จริง บางคนมีงานประจำอาจจะไม่สามารถทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือได้เต็มที่ ฉะนั้นเราควรให้เวลากับวิชาที่เราไม่เก่งมากกว่า โดยอาจจะต้องอ่านเนื้อหาตั้งแต่พื้นฐาน หรือเรียนติวเพิ่มจะช่วยให้เราเข้าใจในวิชานั้นเร็วขึ้น อีกทั้งเราต้องเขียนตารางวางแผนให้ชัดเจนว่า จะอ่านวิชาไหนและอ่านเวลาไหน อาจจะวางแผนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วประเมินอยู่เรื่อง โดยการทำข้อสอบเก่า
เทคนิคการอ่านหนังสือ
ในเรื่องของการอ่านหนังสือสอบ วิชาคณิตศาสตร์อาจจะไม่จำเป็นต้องอ่านมาก เพียงแต่ฝึกทำข้อสอบและจับเวลา ส่วนภาษาไทยและภาษาอังกฤษอาจจะต้องมารื้อฟื้นทั้งไวยากรณ์และคำศัพท์กันใหม่ ส่วนวิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดีนั้นต้องการอาศัยทั้งความเข้าใจและการท่องจำ สำหรับคนที่มีเวลาน้อย การทำข้อสอบเก่าซ้ำ ๆ ถือว่าเป็นทางลัดที่ดี แต่ถ้าให้ดีที่สุดคือเราต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเนื้อหาให้ถ่องแท้ และถึงฝึกทำข้อสอบ
เทคนิคการทำข้อสอบ
เมื่อเข้าห้องสอบไปแล้วไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือ หรือฝึกทำข้อสอบมาหนักขนาดไหน ถ้าไม่มีสติและทำข้อสอบไม่ทันที่ฝึกมาก็จะสูญเปล่า ดังนั้นก่อนเข้าห้องควรตั้งสติ ทำสมาธิจดจ่ออยู่กับการสอบตรงหน้า เลือกทำข้อที่ทำได้หรือข้อที่ง่ายก่อนแล้วจึงใช้เวลากับข้อยาก ๆ หากเราทำไม่ทันเราต้องมาดูว่าวิชาไหนเหลือมากเหลือน้อยเพราะการจะสอบผ่าน ก.พ. ภาค ก ผู้สอบต้องผ่านเกณฑ์การสอบในแต่ละวิชา คือ
- วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์และภาษาไทย) เกณฑ์ผ่านอยู่ที่ 60 คะแนน สำหรับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ส่วนปริญญาโท ต้องได้คะแนน 65 คะแนน
- วิชาภาษาอังกฤษ เกณฑ์ผ่านคะแนนคือ 25 คะแนน ทุกระดับชั้น
- วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี เกณฑ์ผ่านคือ 25 คะแนน ทุกระดับชั้น เช่นกัน
Reference: - GuruPolice. (2564). เตรียมตัวสอบ ก.พ. อย่างไร ให้สอบผ่านในครั้งเดียว. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3FLWzaP
- ฉันท์ชมา. (2565). 5 เทคนิค “สอบ ก.พ.” ให้ผ่านในครั้งเดียว ฉบับรวบรัด. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3FKajTw
- Daisy. (2565). เตรียมตัวสอบ ก.พ. อย่างไรให้สอบติด คะแนนพุ่ง ผ่านฉลุย. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/42xzJO7