วิธีขอทุนโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD)

        อาชีพแพทย์นับว่าเป็นอาชีพที่ใครหลาย ๆ คนใฝ่ฝัน แต่น้อยคนที่ความฝันนั้นจะกลายเป็นจริง เพราะนอกจากเรื่องของผลการเรียนที่มีความสำคัญแล้ว เรื่องทุนทรัพย์ก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนแพทย์นั้นค่อนข้างสูง

          โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งของผู้ที่สนใจอยากเรียนแพทย์แล้วทำงานที่ภูมิลำเนาของตนเองและเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ สามารถสมัครขอรับทุนโครงการนี้ได้ บทความนี้ วิชาการ จึงนำเรื่องน่ารู้สำหรับโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทให้น้อง ๆ ที่สนใจในอาชีพได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนลงสนามจริง

โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คืออะไร ?

          โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (Collaborative Project to Increase Rural Doctors: CPIRD) คือ โครงการที่กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นเพื่อให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละพื้นที่ โดยจัดสรรโควตาเพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ให้กับจังหวัดต่าง ๆ โดยมีเงื่อนไขในการใช้ทุนตามภูมิลำเนาที่ตนเองสังกัดอยู่


ประเภทของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

1. กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน (Community Track)

    • กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
    • ผู้สมัครและบิดา/มารดา/ผู้ปกครองตามกฎหมายมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี
    • โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับภูมิลำเนาผู้สมัคร

2. กลุ่มแพทย์ลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Track)

    • กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
    • ผู้สมัครและบิดา/มารดา/ผู้ปกครองตามกฎหมายต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดที่สมัครนอกเขตอำเภอเมืองไม่ต่ำกว่า 5 ปี
    • โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับภูมิลำเนาผู้สมัคร

3. กลุ่มสำเร็จปริญญาตรีลาเรียน

    • อายุไม่เกิน 30 ปี
    • จบปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ
    • มีคุณสมบัติตามกำหนด

 

สัญญาและการใช้ทุนหลังเรียนจบ

  • ทำสัญญาทั้งหมด 4 ชุด
  • จะต้องมีการค้ำประกัน
  • โครงการกำหนดให้ปฏิบัติงานในจังหวัด/เขต/ภูมิลำเนาตามที่กำหนดไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันเพื่อใช้ทุน
  • ผิดสัญญาไม่ทำงานต้องชดใช้ 400,000 บาท ภายใน 15 วัน

 

เกณฑ์การรับสมัครเข้าร่วมโครงการ

เกณฑ์การรับสมัครก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งมีคะแนนหรือการทดสอบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. GPAX 5 ภาคเรียน
  2. คะแนนวิชาสามัญ 7 วิชา
  3. คะแนนวิชาเฉพาะ กสพท.
  4. คะแนน GAT
  5. คะแนน PAT
  6. คะแนนการสอบสัมภาษณ์
  7. คะแนนทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ CEPT (กลุ่มจบปริญญาตรี)
  8. คะแนนสอบตามมหาวิทยาลัยกำหนดหรือจัดสอบ


การสมัครเข้าร่วมโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท

  1. ศึกษาเกณฑ์การคัดเลือกของแต่ละมหาวิทยาลัย
  2. สมัครเข้าร่วมโครงการ
  3. ชำระค่าสมัครเข้าร่วมโครงการ
  4. ส่งเอกสารประกอบการรับสมัคร
  5. สอบคัดเลือกและยื่นคะแนนการสอบต่าง ๆ ตามมหาวิทยาลัยกำหนด
  6. ตรวจร่างกาย สุขภาพจิต และสอบสัมภาษณ์
  7. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก
  8. ยืนยันสิทธิ์
  9. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์การศึกษา


          สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท สามารถนำข้อมูลข้างต้นไปเป็นแนวทางในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อสานฝันไปสู่อาชีพแพทย์ในอนาคตได้ นอกจากนี้โครงการยังเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ที่อยู่นอกเขตอำเภอเมือง สามรถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ผ่านกลุ่มความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Track) อีกด้วย และอยากให้น้อง ๆ ศึกษาวิธีการรับเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ให้รอบครอบและเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว เราจะได้ไม่พลาด สุดท้ายนี้ วิชาการ ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ จงฝันให้ไกลไปให้ถึง ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีในการสมัครเข้าร่วมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทนะ !




References:

  • Dek-D.  (2565).  เจาะลึก”โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท” กำหนดใช้ทุน 3 ปี ผิดสัญญาปรับ 400,000 บาท.  สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3SCq8Af
  • MedCMU.  (2565).  โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทCPIRD.COMMUNITY TRACK.  สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3Efn3S8
  • SANGFANS.COM.  (2565).  โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทคณะแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3Eh8dL0

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general