สำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หลาย ๆ คนเริ่มมีการวางแผนอนาคตในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเลยก็ว่าได้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีการเรียนการสอนหลากหลายคณะ หลายสาขาวิชา ตัวเลือกในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยของน้อง ๆ จึงมีมากมาย ดังนั้น วิชาการ จึงมีเคล็คลับดี ๆ ในการเลือกเรียนคณะที่ชอบ มหาวิทยาลัยที่ใช่ มาให้น้อง ๆ ได้อ่านกัน
1. การรู้จักตัวเองหรือการค้นหาตัวเอง
- รู้จักว่าตัวเองชอบอะไร ถ้าเรารู้ตัวว่าชอบหรือรักในการทำสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เวลาเราเลือกที่จะเรียนคณะอะไร มหาวิทยาลัยไหน ก็จะทำให้เราสามารถเลือกได้ง่าย ตรงตามที่ตัวเองชอบ และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดในการเลือก
- รู้จักว่าตัวเองถนัดวิชาอะไร การที่เรารู้ว่าตัวเองถนัดวิชาอะไร สามารถนำไปเป็นปัจจัยในการเลือกเรียนคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบได้ เช่น
- ถนัดวิชาชีววิทยา สามารถเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, พยาบาลศาสตร์ และมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
- ถนัดวิชาคณิตศาสตร์ สามารถเลือกเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะบริหารศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลต่าง ๆ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
- ถนัดวิชาศิลปะและดนตรี สามารถเลือกเรียน คณะศิลปศาสตร์, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
- รู้จักว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน
เป็นคนจริงจัง สามารถเลือกเรียนคณะ แพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, สหเวชศาสตร์ เป็นต้น
เป็นคนชอบความท้าทาย สามารถเลือกเรียนคณะ วิทยาศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์ เป็นต้น
เป็นคนชอบเข้าสังคม สามารถเลือกเรียนคณะ สังคมศาสตร์, ครุศาสตร์, มนุษยศาสตร์ เป็นต้น
2. การวางแผนอนาคต
การวางแผนอนาคตนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ อนาคตเราอยากทำงานแบบไหน เรื่องงานเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ สนใจงานแบบไหนเราก็มุ่งเน้นไปยังคณะนั้น ๆ และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในด้านนั้น ๆ โดยคำนึงถึงอาชีพที่จะรองรับการทำงานของเรา เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว
3. การศึกษาข้อมูล
การศึกษาข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกคณะและมหาวิทยาลัยที่เราจะเข้าศึกษา ทำให้เรารู้และเข้าใจในสิ่งที่เราต้องเจอในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น
- เรื่องของหลักสูตรในการเรียนตลอดระยะเวลาที่เข้าศึกษา ว่าต้องเรียนอะไร อย่างไรบ้าง
- เรื่องของงานที่จะมารองรับเมื่อจบการศึกษาแล้ว มีงานรองรับมากน้อยแค่ไหน
- เรื่องของหลักเกณฑ์ในการรับสมัครเข้าศึกษา มีหลักเกณฑ์ในการรับเป็นอย่างไร ใช้คะแนนเท่าไหร่ คะแนนอะไรบ้าง เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อม
4. การลงมือปฏิบัติ
การลงมือปฏิบัติในที่นี้คือ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าค่ายของคณะหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น กิจกรรม Open House, กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ หรือสายพยาบาล บางสถาบันจะมีการทำกิจกรรมในโรงพยาบาล เพื่อเก็บชั่วโมงในการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น จะทำให้เราได้เข้าใจคณะนั้น ๆ ได้มากขึ้นผ่านการเรียนรู้ ผ่านการปฏิบัติจริงตามกิจกรรมที่คณะและมหาวิทยาลัยจัดขึ้น เป็นการเปิดโลกทัศน์ของน้อง ๆ อีกด้วย
5.การตัดสินใจเลือก
เมื่อถึงเวลาที่น้อง ๆ ต้องตัดสินใจเลือก น้อง ๆ ต้องนำทุกอย่างมาประมวลผลรวมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความชอบตัวเอง วิชาที่ถนัด อนาคตการทำงานและสิ่งที่ต้องเจอตลอดหลักสูตรการเรียน ว่าเราสามารถที่จะเรียนได้จนจบหลักสูตรหรือไม่ นำทั้งหมดมารวมกันหาจุดสมดุลแล้วค่อยตัดสินใจเลือกคณะที่คิดว่าใช่สำหรับเรา และเป็นมหาวิทยาลัยที่เราชอบ มีพลังอยากที่จะเรียน โดยต้องคำนึงด้วยว่าเมื่อจบการศึกษาจะมีงานมารองรับเราหรือเปล่า
สำหรับ 5 เคล็ดลับดี ๆ ในการเลือกคณะที่ใช่ มหาลัยที่ชอบ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเป็นประโยชน์สำหรับน้อง ๆ ทุกคน ที่กำลังสับสนในตัวเอง และยังไม่มีเป้าหมายในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกคณะที่ใช่ มหาลัยที่ชอบได้และยังช่วยในการเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่เราชื่นชอบอีกด้วย
Reference:
- ทรูปลูกปัญญา. (2561). คณะที่ใช่ vs มหาลัยที่ชอบ. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/2GC3F3H
- Dek-D.com. (2565). 7 วิธีค้นหาคณะที่ใช่ คณะไหนที่เหมาะกับเรา!. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3SbpDfa
- ENGSNACK. (2565). เทคนิคการเลือกคณะในฝันสำหรับน้องๆ มัธยม คณะแบบไหนที่ใช่สำหรับเรา. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3D7i59a