วิธีการเอาตัวรอดจากเหตุชุลมุน หากอยู่ในพื้นที่แออัด

       

          จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่าน “อิแทวอน” (Itaewon) ประเทศเกาหลีใต้ ของค่ำคืนวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์การเบียดเสียดของนักเที่ยวจำนวนกว่า 100,000 คน ในตรอกเล็ก ๆ ในย่านสถานบันเทิง และร้านอาหารชื่อดังอิแทวอน ในช่วงฮาโลวีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 154 ราย ถือว่าเป็นข่าวสลดที่ดังทั่วโลกในชั่วข้ามคืน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ เริ่มจากการเบียดของคนจำนวนมาก (Crow Crush) จนขาดอากาศหายใจ (Stampede) ฝูงชนเกิดอาการตกใจ แตกฮือ ผลักกัน จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ หมดสติ หัวใจหยุดเต้น มีภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
          ในประเทศไทย แม้ยังไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงในลักษณะนี้มาก่อน แต่ก็ถือว่าบางพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเหตุในเช่นนี้ได้ เช่น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บริเวณถนนสีลม หรือบริเวณถนนข้าวสารที่เป็นแหล่งรวมของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เป็นต้น และหากเราเกิดตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะมีวิธีการเอาตัวรอดจากการเบียดเสียด และการเหยียบกันได้อย่างไร ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงออกคำแนะนำแก่ประชาชน เมื่อต้องเผชิญเหตุชุลมุนเบียดเสียดกัน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีคำแนะนำดังต่อไปนี้


คำแนะนำเมื่อเผชิญเหตุชุลมุนเบียดเสียด

  1. สังเกตและจดจำทางออก เมื่อไปร่วมงานที่มีคนหนาแน่น
  2. เมื่อรู้สึกอึดอัดให้ตัดสินใจเดินออกมาทันที
  3. เมื่อต้องวิ่งหนี ให้ทำตามนี้
    • ยืนให้มั่น ก้าวเดินอย่างมั่นคง ทรงตัวให้ดี พยายามไม่ให้ล้ม
    • ไม่ออกแรงผลัก, ไม่กรีดร้อง, ไม่ตะโกน หรือทำสิ่งที่ต้องใช้พลังงานมาก จะทำให้เหนื่อยและหายใจไม่ออก
    • ยกแขนตั้งการ์ดบริเวณหน้าอก ก่อนเดินผ่านคน ป้องกันการกระแทก และช่วยให้เคลื่อนไหวท่ามกลางคนหนาแน่นได้ดีขึ้น
    • เดินไปทิศทางข้างลำตัว หยุดแล้วเดินสไลด์ข้างไปเรื่อย ๆ จนถึงที่ปลอดภัย

 การปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญเหตุชุลมุน

  1. พยายามตั้งสติ ยืดตัวและขยายร่างกายให้ได้มากที่สุด ควบคุมจังหวะการหายใจ หายใจเข้าลึก ๆ อย่าแตกตื่น
  2. เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจจะมีผลต่อการสติสัมปชัญญะ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจ ขาดสติในการแก้ไขสถานการณ์ได้
  3. อย่าพยายามดันตัวเองสวนทางกับกระแสฝูงชน ปล่อยให้ตัวเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ แต่ต้อง เดินไปทิศทางข้างลำตัวตามข้อแนะนำของ สธ. ดังที่กล่าวข้างต้น
  4. อย่าเอาตัวไปติดกับกำแพง หรือรั้ว เพราะถือว่าเป็นจุดบอดที่เราจะไม่สามารถหลุดออกมาจากฝูงชนได้ รวมถึงเราอาจจะได้รับแรงบีบ แรงกระแทกจากฝูงชนจำนวนมากมากกว่าเดิม
  5. หากอยู่ในเหตุการณ์ของการวิ่งหนีตายของคนจำนวนมาก ให้เราหาที่กำบัง เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกเหยียบ แต่สังเกตสิ่งแวดล้อมรอบข้าง รอจนกว่าเหตุการณ์สงบจึงค่อยออกมาจากที่กำบัง
  6. หลีกเลี่ยงทางแคบ ในกรณีที่ฝูงชนมุ่งไปในทิศทางของทางออกที่มีลักษณะแคบมาก ควรมองหาทางออกอื่น ๆ เช่น ประตูฉุกเฉินอื่น, หน้าต่าง หรือทางหนีไฟทางอื่น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้การตั้งการ์ดด้วยศอก และเคลื่อนไหวแบบสไลด์ข้างก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
  7. ลดความเสี่ยงโดยการไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว หากพิจารณาแล้วว่าไม่ปลอดภัยหรือไม่มีทางออกฉุกเฉินใด ๆ

          หวังว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของโลกเลยก็ว่าได้ ทุกประเทศตื่นตัวและประกาศคำแนะนำให้กับประชาชน ในการปฏิบัติตัวหากอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับ ที่อิแทวอน แต่อย่างไรก็ตามวิธีการเอาตัวรอดข้อสำคัญที่สุด คือการประเมินความเสี่ยงนั้นได้หรือไม่ โดยดูจากปริมาณความหนาแน่นของฝูงชนที่อยู่ในพื้นที่ หากเราพบว่าไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ การเลี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงนั้น ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่สุดแล้ว

Reference:

  • Amarintv.  (2565).  แนะนำวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฝูงชนเบียดกัน เหยียบกันตาย (crowed crush).  สืบค้นเมื่อวันที่ 04 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3zCIFoz
  • BBCnews ไทย.  (2565).  อิแทวอน: คนไทยเสียชีวิต 1 ราย เหตุเบียดกันตายในกรุงโซล ยอดเสียชีวิตรวม 154 ราย.  สืบค้นเมื่อวันที่ 04 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bbc.in/3T2Pfvp
  • Matichononline.  (2565). สธ.  แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชนเบียดเสียด.  สืบค้นเมื่อวันที่ 04 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3U62UDl
  • Thairathonline.  (2565).  6 วิธีเอาตัวรอดจากเหตุเหยียบกันแบบเหตุการณ์ในอิแทวอน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 04 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3Wv1LXp


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general