แนะนำเทคนิคในการป้องกันตัวจากเหตุการณ์กราดยิง รู้ไว้ปลอดภัยกว่า

เหตุการณ์กราดยิงเป็นเหตุการณ์การก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบกับเหตุการณ์นี้มาแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช, หนองบัวลำภู หรือล่าสุดจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ สยามพารากอน

ดังนั้นเหตุการณ์กราดยิงอาจเกิดขึ้นได้ในทุกที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีความรู้และทักษะในการป้องกันตัวจากเหตุการณ์กราดยิง วิชาการ จึงมาแนะนำเทคนิคการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์กราดยิงมาฝากทุกคนกัน ไปดูรายละเอียดกันได้เลย

แนะนำเทคนิคในการป้องกันตัวจากเหตุการณ์กราดยิง รู้ไว้ปลอดภัยกว่า

ขั้นตอนพื้นฐานในการป้องกันตัวจากเหตุการณ์กราดยิง

1. หนี (Run)

หากเป็นไปได้ วิธีที่ดีที่สุดเมื่อเผชิญเหตุการณ์กราดยิง ก็คือให้หนีออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด พยายามหาทางออกที่ปลอดภัยที่สุดและหลีกเลี่ยงการวิ่งตรงไปยังจุดที่ผู้ก่อเหตุอยู่หรือมีเสียงปืนดัง โดยหากอยู่ในอาคารให้หนีจากที่สูงลงที่ต่ำเพื่อที่จะสามารถหลบหนีจากอาคารได้ง่าย

2. ซ่อน (Hide)

หากไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ได้ วิธีต่อไปก็คือให้หาที่หลบซ่อนตัวให้พ้นสายตาผู้ก่อเหตุ พยายามหาที่ซ่อนที่กำบังสายตาได้ หรือมีเครื่องป้องกันแน่นหนา เช่น ในร้านค้าที่มีประตูเหล็ก, ในตู้เก็บของ และพยายามไม่ทำเสียงดัง

โดยปิดเสียงโทรศัพท์และไม่โพสต์บนช่องทางออนไลน์ว่าตนเองหลบอยู่ที่ไหน ให้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านทางแชท เพื่อชี้จุดที่จะเข้ามาช่วยเหลือ

3. สู้ (Fight)

เป็นวิธีสุดท้ายที่ วิชาการ ขอแนะนำหากจวนตัวจริง ๆ โดยหากไม่สามารถหนีหรือซ่อนตัวได้ หรือถูกพบเจอแล้ว ให้พยายามสู้กับผู้ก่อเหตุเพื่อเอาชีวิตรอด ในกรณีที่มีอาวุธให้ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัว หากในกรณีที่ไม่มีอาวุธให้ใช้สิ่งของใกล้ตัว เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ ฯลฯ โจมตีผู้ก่อเหตุเพื่อให้เราสามารถหลบหนีออกมาได้

เมื่อเผชิญเหตุการณ์กราดยิง ต้องทำอย่างไรบ้าง ?

หากเราเผชิญเหตุการณ์กราดยิง ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ตั้งสติและอย่าตกใจ ปฏิบัติตามกฎ หนี, ซ่อน, สู้ โดยประเมินตามสถานการณ์และภัยคุกคามที่เกิดขึ้น
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  • หลีกเลี่ยงการตะโกนส่งเสียงดังเพราะเราอาจตกเป็นเป้าหมายได้
  • ทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นที่จะทำให้เราเคลื่อนไหว หรือหลบหนีได้ช้าลง เช่น กระเป๋าถือ, Notebook เป็นต้น
  • ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ
  • ปิดไฟและม่าน เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องหลบซ่อน
  • ล๊อคประตูและหน้าต่างให้แน่นหนา และห้ามเปิดประตูหรือหน้าต่างจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัยหรือมีเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ
  • หาอาวุธหรือสิ่งของใกล้ตัว เพื่อเตรียมต่อสู้หากถูกพบตัว

 

 

Reference:

  • ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสิงห์บุรี.  (2565).  การเอาตัวรอดจากคนคลุ้มคลั่งกราดยิง (Active Shooter). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566, จาก https://bit.ly/3QfPF3d

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general