จริงหรือไม่ ! มีสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนในน้ำ และทะเลไทย?



             นอกจากข่าวการเมืองและเศรษฐกิจในบ้านเราที่ร้อนแรงเป็นที่น่าจับตามอง ก็ยังมีอีกข่าวที่สร้างความกังวลไม่น้อย ซึ่งไม่นานมานี้รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศเริ่มปล่อย “น้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี” ที่ผ่านการบำบัดแล้ว จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 12 ปีก่อน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงชาวญี่ปุ่นเองด้วย วันนี้ วิชาการ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข่าวการปล่อยปนเปื้อนนี้ มาให้ทุกท่านได้อ่านและทำความเข้าใจกัน

อันตรายจากกัมมันตรังสี

มี 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. ได้รับรังสีจากสารกัมมันตรังสีจากภายนอก (External Exposure) : ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของรังสี ระยะเวลาในการสัมผัสกับรังสี และระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดรังสีกับตัวผู้รับรังสี
  2. ได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายโดยตรง (Internal Exposure) : มักพบในกรณีมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่มีสภาพเป็นก๊าซ ของเหลว หรือฝุ่นละอองจากแหล่งเก็บสารกัมมันตรังสี หรือที่เก็บกากสารกัมมันตรังสีซึ่งส่งผลให้มีการฟุ้งกระจายไปในอากาศ หรือปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำ และเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนรังสี เป็นต้น
    • อาการ : ที่เกิดขึ้นจากการได้รับรังสีโดยตรง อาจมีตั้งแต่ผื่นแดง ผิวหนังพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน เม็ดเลือดขาวถูกทำลายอย่างรุนแรง ระบบการสร้างโลหิตจากไขกระดูกบกพร่อง มีความต้านทานโรคต่ำ ผิวหนังพุพอง ผมร่วง ปากเปื่อย หรือเป็นมะเร็งได้ เป็นต้น

น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีมาจากไหน ?

          น้ำที่ปนเปื้อนนี้มาจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่เกิดจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ทำลายระบบหล่อเย็น และทำให้แกนเครื่องปฏิกรณ์เกิดความร้อนสูงและหลอมละลาย จึงต้องปล่อยน้ำเข้าไปเพื่อลดความร้อนของแกนเครื่องเป็นผลให้กัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนน้ำภายในโรงไฟฟ้ากว่าหลายล้านตัน

ทำไมจึงต้องปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนออกมา ?

  • น้ำเสียมากเกินไปจึงต้องปล่อยน้ำทิ้ง เนื่องจากน้ำที่ปนเปื้อนนั้นจะถูกกรองและจัดเก็บในถังขนาดใหญ่กว่า 1,000 ถัง นับตั้งแต่เกิดเหตุภัยพิบัติทำให้โรงงานยังคงผลิตน้ำเสียวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร 
  • พื้นที่กักเก็บน้ำเหล่านี้ใกล้เต็ม เนื่องจากน้ำเสียส่วนใหญ่มาจากน้ำบาดาลและน้ำทะเลที่ใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดสินใจปล่อยน้ำ
  • ญี่ปุ่นยังต้องการรื้อถอนโรงงานไฟฟ้าอย่างปลอดภัย และมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ทำให้ญี่ปุ่นกังวลเกี่ยวกับผลที่ตามมาหากถังเก็บได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

น้ำที่ปล่อยมามีความปลอดภัยหรือไม่ ?

  • น้ำที่ปนเปื้อนถูกเก็บในถังหลังได้รับการบำบัดและกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นทริเทียม แต่ทริเทียมก็ถูกทำให้เจือจางลงโดยมีความเข้มข้นไม่เกิน 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร
  • น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีถึงแม้ว่าจะถูกบำบัดแล้ว แต่ยังมีความกังวลให้กับประเทศใกล้เคียง เช่น จีน โดยมีการประกาศสั่งห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ฯลฯ
  • องค์กรพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ของสหประชาชาติ International Atomic Energy Agency (IAEA) มีความเห็นว่า น้ำที่ปล่อยออกมานั้นจะมีผลกระทบทางรังสี “เพียงเล็กน้อย” ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
  • นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นก็ออกความเห็นตรงกันว่า “น้ำที่ปล่อยออกมามีความปลอดภัย” ถึงแม้จะมีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาโต้แย้งก็ตาม

ทะเลของไทยได้รับผลกระทบหรือไม่ ?

             สำหรับทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเองนั้นผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “คนไทยยังสามารถกินอาหารทะเลของบ้านเราได้เหมือนเดิม” เนื่องมาจากประเทศไทยอยู่ห่างจากฟุกุชิมะกว่า 5,000 กม.

            นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ยังกล่าวต่ออีกว่า “นอกจากนี้ กระแสน้ำ kuroshio ซึ่งเป็นกระแสน้ำหลักในทะเลแถบนั้นยังไหลขึ้นเหนือ ก่อนเบี่ยงออกกลางมหาสมุทร ไม่ได้ไหลลงใต้มาทางบ้านเรา หากคิดถึงการสะสมระยะยาวในดินตะกอน สัตว์น้ำ ฯลฯ เราก็ยังอยู่ไกลมาก ดังนั้นการกินอาหารจากทะเลไทย เรายังกินต่อไปได้และควรกิน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของคนไทยเราต่อไป

 

 

 

Reference:

  • ไทยรัฐออนไลน์.  (2566).  วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการปล่อยน้ำปนเปื้อนที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566, จาก https://shorturl.at/jAJV7
  • The Standard.  (2566).  ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเลแล้ววันนี้ นักวิชาการชี้ไม่กระทบปลาไทย ยังกินได้ปกติ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566, จาก https://shorturl.at/BJNU7
  • BBC Thai.  (2566).  เหตุใดนักวิทยาศาสตร์กังวลต่อผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566, จาก https://shorturl.at/fJSX5

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general