สุดสัปดาห์นี้นอกจากจะเป็นวันหยุดยาวที่ไทยแล้ว ที่อังกฤษเองก็มีโอกาสได้หยุดเพิ่มเช่นกันในวันจันทร์ที่กำลังจะมาถึง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ที่มีขึ้นในวันที่เสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เพื่อให้ชาว วิชาการ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน เราได้รวบรวมสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนี้กัน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษ
ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรก็เหมือนกับอีกหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ แม้ว่าสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จะได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์โดยอัตโนมัติ ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซเบธที่ 2 แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นประเพณีโบราณสืบทอดมาเป็นพันปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มรัชกาลใหม่อย่างแท้จริง โดยครั้งล่าสุดที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอังกฤษนั้นคือปี พ.ศ. 2496 หรือว่า 70 ปีที่แล้ว โดยสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 40 ที่ได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์กรุงลอนดอน
ขั้นตอนสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา ก่อนช่วงเวลา 10.20 น. ขบวนเสด็จเคลื่อนที่จากพระราชวังบักกิงแฮมถึงยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เวลา 11.00 น. จากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จเข้าสู่ยังบริเวณพิธีใจกลางของมหาวิหารฯ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่
- “รับรองฐานะความเป็นกษัตริย์” ด้วยการประกาศต่อสาธารณชนโดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอร์รี บาทหลวงชั้นสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ
- “กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ” ขั้นต่อมากษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของชาติและศาสนจักรอังกฤษ โดยขณะกล่าวจะทรงวางพระหัตถ์ลงบนพระคัมภีร์ไบเบิล
- “เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์” อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะเจิมน้ำมันมะกอกที่ผ่านพิธีปลุกเสกเป็นเครื่องหมายกางเขนบนพระนลาฏ (หน้าผาก) พระอุระ (หน้าอก) และที่พระหัตถ์ทั้งสองข้าง เป็นการแสดงสถานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นองค์ประมุขสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ
- “สวมพระมหามงกุฎ” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพิธี โดยอาร์ชบิชอปจะวางพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียรของกษัตริย์ ซึ่งเป็นพระมหามงกุฎที่จะได้ทรงสวมเพียงครั้งเดียวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น
- “เสด็จขึ้นครองราชย์” กษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชอาสน์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์อย่างสมบูรณ์
- ”รับการถวายความเคารพ” เจ้าชายวิลเลียมจะเป็นพระราชวงศ์ที่มีฐานันดรชั้นดยุคเพียงพระองค์เดียว ที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพต่อสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3
จากนั้นต่อด้วยพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชินี บาทหลวงจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรี และไม่ทรงต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามแบบของกษัตริย์
เสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮม หลังจากเสร็จพิธี สมเด็จพระราชาและพระราชินีจะเสด็จลงจากพระราชอาสน์เพื่อไปยังโบสถ์น้อยเซนต์เอ็ดเวิร์ด เพื่อเปลี่ยนพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมาเป็นพระมหามงกุฎอิมพีเรียล ก่อนเสด็จออกจากมหาวิหารเพื่อเตรียมกลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮม โดยจะมีการบรรเลงเพลงชาติอังกฤษตลอดทาง
เครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
นอกจากพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดที่จะใช้เฉพาะในพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์หรือสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ อย่างอื่นที่ใช้ในพิธี ได้แก่
- พระลูกโลกทองคำประดับอัญมณี (Golden Orb) ทำขึ้นในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ในปี พ.ศ. 2204 โดยกางเขนบนลูกโลกเป็นสัญลักษณ์ของโลกแห่งคริสต์ศาสนา
- พระคทากางเขน (Sceptre with Cross) สื่อถึงพระราชอำนาจและความยุติธรรม
- คทาแห่งพิราบ (Sceptre with Dove) เป็นคทาแห่งความเสมอภาคและเมตตากรุณา สื่อให้เห็นถึงบทบาททางศาสนาของกษัตริย์
- พระแสงดาบ (Sword of State) เป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจ และหน้าที่ของพระประมุขในการปกป้องดูแลศาสนาและประเทศ
หากสนใจ สามารถดูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ได้ตามคลิปด้านล่างนี้
Reference:
- Visual Journalism. (2566). คู่มือชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ฉบับสมบูรณ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566, จาก https://bbc.in/3nA4v9o
- India McTaggart และ Amira Arasteh. (2566). Inside King Charles’s Coronation: When is it and what happens?. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/3AVdNQi
- The Royal Family. (2566). The Coronation of His Majesty The King. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/3HJ37bv