ทำงานอย่างมนุษย์เป็ดดียังไง ใครที่ควรเป็นมนุษย์เป็ด

          หลายคนคงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า ทำได้อย่างเป็ด ซึ่งใช้อธิบายการทำงานของคนที่ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่เชี่ยวชาญสักอย่าง เปรียบเสมือนเป็ดที่มีปีกบินได้แต่ไม่สูงมาก ว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่เร็ว หรือแม้แต่เดินก็ไม่ได้รวดเร็วเหมือนสัตว์อื่น หากฟังดูก็จะเหมือนกับว่าคนที่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นมนุษย์เป็ด (Generalist) นั้นทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ต่างจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialist) ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่ได้ใช้เวลาฝึกฝนเป็นเวลานานจนเชี่ยวการทำงานด้านใดด้านหนึ่ง แต่รู้หรือไม่ว่าเทรนด์การทำงานในปัจจุบันมีความต้องการมนุษย์เป็ดในองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะ Start-Up หรือบริษัทขนาดเล็ก ที่ต้องการคนมีความสามารถหลายด้าน วันนี้ วิชาการ ขอพาทุกท่านมาสำรวจดูว่า มนุษย์เป็ดคืออะไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร


มนุษย์เป็ดทำงานอย่างไร

          มนุษย์เป็ดเป็นกลุ่มคนที่ทำงานได้หลากหลายประเภท โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นงานใดงานหนึ่งเท่านั้น มีทักษะที่หลากหลาย และความรู้กว้างขวาง โดยทั่วไปมนุษย์เป็ดสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยน และสถานการณ์ได้ดี เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้รวดเร็ว

ข้อดีของมนุษย์เป็ด คืออะไร

  • มีความยืดหยุ่นคล่องตัวในการทำงาน ทำให้มนุษย์เป็ดสามารถโยกย้ายทำงานได้หลายตำแหน่ง
  • บางสายงานมีตำแหน่งเปิดรับมากกว่าเมื่อเทียบกับ Specialist
  • ทำงานเป็นทีมได้ดี ด้วยความรู้ที่รอบด้านและทักษะที่หลากหลาย ทำให้มนุษย์เป็ดเป็นทีม Player ที่ดีและช่วยเติมเต็มตำแหน่งที่ขาดในทีมได้
  • มีโอกาสเติบโตในตำแหน่งสูง ๆ โดยเฉพาะสายผู้บริหารเนื่องจากมีความรู้ที่กว้างและเข้าใจภาพรวมขององค์กรจึงทำให้มนุษย์หลายคนเป็นผู้บริหารที่ดีได้
  • มีความเข้าใจภาพกว้างขององค์กร และเชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ได้ดี

ข้อเสียของมนุษย์เป็ด คืออะไร

  • ไม่เหมาะกับการทำงานบ้างสายงานที่ต้องอาศัยทักษะที่ต้องฝึกฝนเป็นเวลานานในการประกอบอาชีพ
  • เติบโตได้ช้ากว่าคนที่เป็น Specialist เพราะ Specialist จะมีความโดดเด่นในการทำงานด้านนั้น ๆ ทำให้โดยมากได้รับการเลื่อนขั้นที่เร็วกว่า Generalist หรือ มนุษย์เป็ด
  • ขาดความรู้ที่ลึกซึ้ง เป็นเพราะมนุษย์เป็ดใช้เวลาไปกับการเรียนรู้หลายสิ่งพร้อม ๆ กันหรือเรียน อย่างละนิดอย่าละหน่อย จึงไม่มีเวลาที่จะเรียนสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเชี่ยวชาญ
  • ต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการฝึกสอน บริษัทหลายแห่งชอบที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงานหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะไม่ต้องเสียเวลาฝึกตั้งแต่เริ่มต้น

การเป็นมนุษย์เป็ดไม่เหมาะกับบางอาชีพ


อยากเป็น “มนุษย์เป็ด” ที่ประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

  • ตอบรับโอกาสใหม่ที่เข้ามา เช่น งานหน้าที่ใหม่, การตอบรับงานใหม่, ประชุมต่างสถานที่, อบรมใน Skill ที่เราไม่ถนัด เป็นการเปิดประตูให้เราได้มีประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้น
  • ลองเรียนภาษาเพิ่ม การสื่อสารภาษาที่สองหรือสามได้อย่างคล่องแคล่วเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราได้เข้าถึงความรู้และผู้คนมากขึ้น ทำให้การเปลี่ยนอาชีพหรือลองทำหน้าที่ใหม่มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
  • ทดลองทำสิ่งใหม่ เป็นเวลาสั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทำงานหลายหน้าที่, เล่นกีฬา, กิจกรรมยามว่าง, เล่นดนตรี, หรือการทำธุรกิจเล็ก ๆ การทำสิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น ๆ จะทำให้คุณเข้าใจถึงกิจกรรมนั้นได้ระดับที่เรียกได้ว่า “คุยกับเขารู้เรื่อง” หรืออาจจะทำความรู้หรือ ไอเดียที่ได้ไปต่อยอด
  • พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งของมนุษย์เป็ด ด้วยความรู้ที่มีกว้างขวางเป็นทุนเดิมทำให้ง่ายที่จะเข้าใจความรู้ใหม่ ๆ และ สามารถนำมาเชื่อมโยงปรับใช้กับความรู้เดิมที่มีอยู่
  • ประเมินข้อบกพร่องของตนเอง ลองพิจารณาว่า มีอะไรที่เรายังทำได้ไม่ดีอยู่ไม่ หรืออาจจะถาม Feedback จากเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานว่ามีเรื่องใดที่เราควรปรับปรุง แล้วหา โค้ช, หนังสือ, หรือคอร์สเรียนเรื่องนั้น ๆ
  • ทำงานเสริม ช่วงเสริมทักษะหลายด้านและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กลยุทธ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวข้องกับงานหลักที่ทำอยู่

    Reference:
  • JobDB.  (2565).  รู้ลึก รู้กว้าง สายงาน Generalist หรือสายงาน Specialist เหมาะกับคุณ?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565, จาก https://bit.ly/3Ll3Vpm
  • Paul Genberg.  (2564).  The Value Of Being A Generalist.  สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565, จาก https://bit.ly/3yEcSCN
  • Indeed.  (2566).  Generalists vs. Specialists: Pros and Cons for Hiring Managers.  สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565, จาก https://indeedhi.re/406Svdg




วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general