มารู้จักไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ โควิด BA 2.75 ที่ไทยต้องระวัง

       

          ในช่วงปีที่ผ่านมาแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น แต่เราก็เห็นได้จากข่าวว่า มีสายพันธุ์ใหม่ผุดขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ และล่าสุด โอไมครอน (Omicron) สายพันธุ์ BA.2.75 ก็สร้างความน่ากังวลอยู่ไม่น้อย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เรายังคงต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์นี้อย่างใกล้ชิด เพราะไวรัสชนิดนี้สามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีความสามารถในการต้านภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และ ยังมีแนวโน้มดื้อยาต้านไวรัสอีกด้วย โดยสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่กระจายไปแล้วในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย วันนี้ วิชาการ จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ โควิด สายพันธุ์ BA.2.75 เพื่อเสริมความเข้าใจและช่วยให้ทุกท่านได้เตรียมรับมือได้ดีขึ้น


โควิด BA.2.75 มาจากไหน?

  • โควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ถูกค้นพบครั้งแรกในอินเดียวันที่ 7 กรกฎาคม ปีนี้ และพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ก็ได้เตือนให้ประเทศต่าง ๆ เฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยนี้ ล่าสุดกว่า 47 ประเทศทั่วโลกมีการรายงานผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว
  • ในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลว่า โควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย แทน สายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นผลจากการตรวจคนไข้โควิด ด้วยวิธี SNP/Deletion พบว่า เป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์ BA.2.75 กว่า 75.9% เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วที่ 58.9% นอกจากนี้การถอดรหัสพันธุกรรมแบบ Whole genome sequencing ยังยืนยันว่าคนไข้โควิดอย่างน้อย 856 คน ติดเชื้อจาก BA.2.75


ทำไม BA.2.75 จึงเป็นที่น่ากังวล?

  • ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังให้ข้อมูลต่อไปว่า BA.2.75 มีการกลายพันธุ์หลายจุดโดยมากพบบนโปรตีนหนาม จุดที่น่ากลัวอย่างยิ่งคือ การกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม G446S ซึ่งเป็นโปรตีนที่ใช้ในการหลบภูมิคุ้มกันในเซลล์มนุษย์ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่ระบาดที่สูงขึ้น รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ก็สามารถติดเชื้อจากสายพันธุ์ BA.2.75 ได้อีกเช่นกัน


วัคซีนโควิดและยาต้านไวรัส สามารถต่อสู้โควิด BA.2.75 ได้หรือไม่?

  • วัคซีนที่มีอยู่นั้นถูกออกแบบมาเพื่อต่อต้านโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ถูกค้นพบที่อู่ฮั่น ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการได้เป็นอย่างนี้ แต่ด้วยโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม David Montefiori ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันไวรัสวิทยาได้เปิดเผยผลงานวิจัยล่าสุดที่เขาได้ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ประเภท mRNA ต่อ โควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ยืนยันว่า แม้ปริมาณของ แอนติบอดีต้านไวรัสจากวัคซีนจะลดลงมากกว่า 4 เท่า เมื่อเท่ากับปริมาณแอนติบอดีต้านไวรัสต่อสายพันธุ์ดั่งเดิม วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ โควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ทั้งนี้นักวิชาการหลายฝ่ายจึงได้กระตุ้นให้มีการพัฒนาวัคซีนโควิดที่มีความจำเพราะต่อสายพันธุ์โอไมครอน
  • นอกจากนี้ นิตยสารทางการแพทย์ชื่อดัง New England Journal of Medicine ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสต่อ BA.2.75 พบว่า Bebtelovimab, Remdesivir, Molnupiravir, Paxlovid ยังคงสามารถต่อต้านไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75 ได้

          ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ในประเทศอินเดียเอง ก็มีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นลูกผสมของไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยเอง ก็ต้องเฝ้าระวังและจับตามองอยู่ไม่น้อย เนื่องจากสายพันธุ์นี้ มีการติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม และสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่โควิดสายพันธุ์ XBB จะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกับโควิดสายพันธ์ BA.2.75 

          ถึงแม้หลายมาตรการเกี่ยวกับโควิดจะถูกผ่อนปรน แต่เราก็ควรหมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และเฝ้าระวังอาการ รวมถึงฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยหากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ก็สามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ


Reference:

  • Alice Park.  (2565).  What We Know So Far About BA.2.75.2, the ‘Most Resistant’ Variant to Date.  สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3VOjvw3
  • THE STANDARD TEAM.  (2565).  สธ. เผยโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน เพิ่มขึ้น 76% กลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศ ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น.  สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3UKNjIU
  • Nour Shaheen et al.  (2565).  Could the New BA.2.75 Sub-Variant Cause the Emergence of a Global Epidemic of COVID-19? A Scoping Review.  สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3YeNAqa
  • หมอมนูญ ลีเซวงวงศ์ FC.  (2565).  หมอมนูญ’ ให้จับตา ‘อินเดียพบโควิด XBB. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3j7lNYR

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general