หลายคนคงได้ติดตามข่าวสงครามตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านกัน ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ผู้คนทั้งสองฝั่งเป็นอย่างมาก ทั้งสองประเทศนี้ได้รบราฆ่าฟันกันมาหลายทศวรรษแล้ว สงสัยไหมคะ ว่าเป็นเพราะอะไร และจุดเริ่มต้นเกิดจากตรงไหน ในบทความนี้ วิชาการ จะพาไปหาคำตอบกัน
ย้อนที่มา ทำไม “อิสราเอล-อิหร่าน” เป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน + อัปเดตล่าสุด
จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง “อิสราเอล-อิหร่าน”
ชนวนของการขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเริ่มจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 1979 พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ถูกโค่นบัลลังก์ลง ทำให้อิหร่านเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเปลี่ยนแปลงไป
อิหร่านเปลี่ยนผู้นำประเทศและระบอบการปกครอง
อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ คาเมเนอี ได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และได้ทำการทิ้งข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล พร้อมทั้งยังกล่าวโจมตีอิสราเอลอย่างรุนแรงในเรื่องของการยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า คาเมเนอีมีจุดประสงค์เพื่อจะเอาใจชาติอาหรับอื่น ๆ
อิหร่านเริ่มสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ
เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ โดยอิหร่านได้สร้างและให้ทุนสนับสนุนกับกองกำลังตัวแทนรวมทั้งกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ในเลบานอน ซีเรีย อิรัก และเยเมน นับแต่นั้นมาก็เกิดสงครามเงา โดยยิงโจมตีเพื่อทำลายทรัพย์สินของกันและกัน แต่ไม่มีผู้ใดยอมรับความรับผิดชอบ ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลเรื่อยมา และขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ
อิสราเอลโจมตีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ผู้นำของอิหร่านเชื่อว่าอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์โจมตีเครื่องหมุนเหวี่ยงสำหรับเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่าน จึงเกิดการก่อวินาศกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอิสราเอลพยายามทำความเสียหายให้กับโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
อิหร่านโต้แย้งจุดประสงค์ของโครงการนิวเคลียร์
ฝ
ซึ่งอิหร่านยืนกรานมาตลอดว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนเป็นไปเพื่อสันติภาพ แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งกัน เช่น ค้นพบยูเรเนียมในพื้นที่ที่อิหร่านไม่เคยเปิดเผยต่อหน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับเป้าหมายของอิหร่าน ฯลฯ
สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ในปี ค.ศ. 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน และใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้อิสราเอลได้เปรียบในการต่อสู้ครั้งนี้
สงครามตัวแทน
อิหร่านได้ทำสงครามลับ ๆ กับอิสราเอลมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษแล้ว เนื่องจากอิหร่านให้การสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ที่กระจายตัวพร้อมจะสู้รบกับอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน
อิหร่านสนับสนุนกลุ่มฮามาสให้โจมตีอิสราเอล
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธฮามาสได้บุกโจมตีอิสราเอลที่ฉนวนกาซาอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 คน และมีคนถูกจับเป็นตัวประกันราว 240 คน ซึ่งอิสราเอลก็ได้มีการโจมตีเพื่อตอบโต้กลับไป ทำให้ในปัจจุบันชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วนับกว่า 34,000 คน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านถูกโจมตีเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2024 สถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ได้ถูกโจมตีทางอากาศโดยคาดว่าเป็นฝ่ายอิสราเอล ทำให้นายทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านเสียชีวิตไป 7 คน ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับฝ่ายอิหร่ายเป็นอย่างมาก
อิหร่านเปิดสงครามกับอิสราเอลอย่างโจ่งแจ้ง
เมื่อความขัดแย้งดำเนินมาถึงจุดสูงสุด อิหร่านจึงส่งโดรนติดระเบิดและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ลูกไปยังอิสราเอล เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2024 ในปัจจุบันที่เพิ่งผ่านมานี้ แต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลและพันธมิตรสามารถสกัดโดรนและขีปนาวุธได้เกือบทั้งหมด
อิสราเอลตอบโต้กลับ (อัปเดตสถานการณ์ปัจจุบัน)
แน่นอนว่าอิสราเอลได้ประกาศที่จะเอาคืนอิหร่าน และได้เปิดฉากโจมตีแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมานี้ ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปทุกที หลายฝ่ายต่างหวั่นเกรงว่าจะก่อให้เกิดสงครามตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้างมากขึ้น
ซึ่งดูท่าว่าสงครามระหว่างทั้งสองประเทศจะยืดเยื้อไปอีกยาวนาน และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ ทั้งอาจจะยังลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ใกล้เคียงอีกด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกผันผวนเป็นอย่างมาก ที่สำคัญยังสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน บ้านเรือนของประชาชน รวมทั้งมีผู้บริสุทธิ์ต้องเอาชีวิตมาทิ้งกับเหตุการณ์นี้มากมาย ซึ่งทาง วิชาการ จะเกาะติดสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดต่อไป