“ดวงตา” กับปัญหาสุขภาพที่มองไม่เห็น

          “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” หากใครได้ยินประโยคนี้คงเข้าใจดีว่า ประโยคนี้กำลังสื่อถึงอะไร ดวงตาของเราสามารถบอกอารมณ์, ความรู้สึกที่มาจากข้างในตัวเรา ทำให้เรารับรู้ว่าคนตรงหน้ากำลังแสดงออกแบบไหน นอกจากนี้ สายตายังสามารถบ่งบอกสุขภาพของเราได้ด้วย ว่าตอนนี้ร่างกายของเราเป็นอย่างไร? มีอาการผิดปกติหรือไม่? หากคุณอยากรู้ เพียงแค่หยิบกระจกขึ้นมา แล้วมองไปที่ดวงตาของคุณ คุณจะเห็นว่าร่างกายของคุณกำลังบอกอะไรอยู่ ดังประโยคที่ว่า “ใบหน้า คือ ประวัติอาการป่วย” ซึ่งคำพูดนี้บ่งบอกให้รู้ว่า ใบหน้าและดวงตา คือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ในการตรวจและวินิจฉัยโรคของเรานั่นเอง

จุดสำคัญในการตรวจดูโรคจากดวงตา 

  1. เราสามารถดูการเปลี่ยนแปลงจากลูกตาขาวได้
  2. เราสามารถดูภาวะซีดได้จากเยื่อบุในตาโดยตรง
  3. อาการระยะแรกของโรคต่าง ๆ สามารถแสดงออกทางตาได้

          ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่หมอ แต่เราก็สามารถสังเกตความผิดปกติของเรา จากสีหน้าและอารมณ์ที่แสดงออกทางใบหน้า และสภาพผิวหนังบนใบหน้าได้ในเบื่องต้นเช่นกัน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ “แววตา” หากร่างกายของเราแข็งแรงดีก็จะมีแววตาที่สดใส ส่วนใครที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงก็จะพบว่า แววตาจะดูไม่ค่อยสดใส และดูเศร้านั่นเอง


จุดสำคัญของการตรวจตา คือ

  1. ให้สังเกตสีของลูกตาขาว ว่าขุ่นมัวหรือมีสีแดงหรือสีเหลืองหรือไม่
  2. ให้สังเกตลูกตาดำ
  3. ใช้นิ้วพลิกหนังตาล่างดูสีของเยื่อบุในตา ว่ามีสีแดงเกินไปหรือขาวเกินไปหรือไม่
  4. สีอื่น ๆ ที่เห็นว่าผิดปกติ อาการปวดตา และให้สังเกตสีหน้าไปด้วย อีกทั้งหนังตาบวม มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไตเสียสมดุล เนื่องจากหากเราตื่นในตอนเช้าแล้วพบว่า หนังตาบวม แสดงว่าร่างกายอาจมีอะไรผิดปกติ โดยทั่วไปแล้ว หลังจากตื่นนอนตอนเช้า หนังตาอาจจะบวม แต่บางคนอาจจะบวมทั่วทั้งใบหน้าก็ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเลือดไปค้างบนใบหน้าขณะนอนหลับ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ หากมีอาการเช่นนี้บนใบหน้านานเกินไป มักจะเกี่ยวกับโรคไตอักเสบ หากหัวใจผิดปกติก็จะทำให้หนังตาบวมได้ แต่อาการนี้ต้องเป็นร่วมกับอาการเท้าบวมด้วย สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่าง คือ หัวใจหรือไตเสียที่เสียสมดุลนั้น หนังตาทั้งสองข้างจะบวมพร้อมกัน แต่ถ้าหนังตาอักเสบจะบวมข้างเดียว และจะมักเป็นสีแดงหรือมีอาการปวด คัน ๆ ร่วมด้วย

ลูกตาขาวเป็นสีเหลืองสด ระวังโรคดีซ่าน
          ลูกตาขาวในร่างกายของเรา เป็นสิ่งที่เราสามารถสังเกตอาการผิดปกติในร่างกายได้ง่ายที่สุด เพราะสามารถมองเห็นได้ง่าย พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราอาจจะหันไปมองกระจกเพื่อเช็คตาขาวตัวเอง ซึ่งหากพบว่ามีสีเหลืองขุ่น ถ้าเป็นเด็กเราคงกังวลไม่น้อย แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องกังวลมาก เพราะเป็นไปได้ที่ลูกตาขาวสามารถเปลี่ยนไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจมาจากการตกตะกอนของไขมัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวัง คือ สีเหลืองสด หรือไม่ก็ลูกตาขาวมีลักษณะคล้ายกับมีสีเหลืองติดอยู่ประมาณ 90% อันนี้ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็น “โรคดีซ่าน
          ยังมีอาการผิดปกติอีกมากที่เราสามารถมองเห็นผ่านดวงตาของเราได้ และจะมีอาการอะไรบ้างนั้นสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์นี้ และอย่าลืมดูแลดวงตาอันแสนมีค่าของเราด้วยการพักผ่อนสายตา เมื่อรู้สึกเมื่อยล้า ให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำเย็นเพื่อให้สดชื่น และหมั่นตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งด้วยนะ

 


References:
– ม. อึ้งอรุณ.  (2548).  รู้ทันโรคด้วยการตรวจสุขภาพตนเอง.  กรุงเทพฯ: พิมพ์อรุณรุ่ง
– กัญศจี วงศาวัฒนากุล.  (2553).  รู้ไว้…ไกลโรค.  ปทุมธานี : เวิร์คพอยท์
– ศรีสุภา ส่งแสงขจร.  (2552).  รักษาก่อนหาหมอ.  กรุงเทพฯ : อมรินทร์สุขภาพ



วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general